วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

รายงานการศึกษา และวิเคราะห์ภูมิปัญญาของไทยเรื่อง การทำหมอนขิด

คำนำ

รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้น หลังจากที่ได้ศึกษาค้นคว้า การทำหมอนขิด ซึ่งเป็นภูมิปัญญา ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิตของชาวนาในชนบทโดยเฉพาะชาวอีสานสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและเป็นผลผลิตที่มีความผูกพันและมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวบ้านมาแต่โบราณ มีรูปแบบและลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน โดยผู้จัดทำได้ทำการวิเคราะห์ องค์ความรู้ คุณค่าของภูมิปัญญาไทย และได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านตามวิถีชีวิตชุมชน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ในสังคมปัจจุบัน



นาวี แสงฤทธิ์
กันยายน 2551












บทที่ 1
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำหมอนขิด
ความเป็นมาของการทำหมอนขิด
การทอผ้าซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่สำคัญของชาวอีสานที่มีความผูกพันกับคติความเชื่อของชาวอีสานมาช้านาน ดังจะเห็นได้จาก “ผ้าขิด” ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำหมอนขิด เป็นผ้าที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไป ผ้าขิดเป็นผ้าที่ต้องใช้ฝีมือและความสามารถในการทอสูงกว่าผ้าชนิดอื่น ช่างอีสานถือว่าผ้าขิดเป็นของสูง จึงมักจะทอใช้ในโอกาสที่เป็นมงคลหรืองานพิธี
หมอนขิด เป็นภูมิปัญญาสั่งสม ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเป็นการรักษาวัฒนธรรมทางหัตถกรรมของภาคอีสานไว้ได้อย่างดีเยี่ยมและยังได้นำมาประยุกต์เข้ากับศิลปะปัจจุบันตลอดจนประโยชน์ใช้สอยได้อย่างกลมกลืนตามสมัยนิยม ชาวอีสานในอดีตประกอบอาชีพหลักทางการเกษตร มีการปลูกข้าวเพื่อยังชีพ เลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร ถ้าว่างจากการทำไร่ ทำนา ผู้ชายจะสานตะกร้า บุ้งกี๋ กระบุง ฯลฯ ไว้ใช้ในครัวเรือน หรือเอาไว้ใช้ในฤดูกาลทำนา ทำไร่ในปีต่อไป ส่วนผู้หญิงก็จะเย็บปักถักร้อย มีการปลูกฝ้ายเก็บดอกฝ้ายมาปั่นทำผ้าห่ม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นำมาทอเป็นผืนผ้าไหมเพื่อได้นุ่งห่ม มีทั้งทอผ้าพื้นสำหรับตัดเสื้อผ้า หรือทำที่นอน ทอผ้าขาวม้า ทอผ้าลายมัดหมี่ และทอผ้าลายขิด สำหรับผ้าลายขิดจะใช้ทำหมอน ซึ่งการทำหมอนขิด เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิตของชาวนาชนบท โดยเฉพาะชาวอิสานซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะศิลปะในการทอผ้าเพื่อใช้สอยในครัวเรือน ทั้งเสื้อผ้าและเครื่องใช้ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่ การทอผ้าลายขิด เป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ “ขิด” เป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาจากคำว่า สะกิด หมายถึงงัดช้อนขึ้นหรือสะกิดขึ้น สันนิษฐานว่ามาจาก ภาษาบาลีคำว่า ขจิด แปลว่า ทำให้งดงาม ในสมัยโบราณผ้าขิดเป็นผ้าที่มีคุณค่าสูง ใช้ห่อพระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาใน
พุทธศาสนา ต่อมา ชาวบ้านได้นำผ้าขิด มาทำเป็นหมอนสามเหลี่ยม ซึ่งเดิมเรียกว่าหมอนหน้าม้า ตามลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายหน้าม้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าใช้สำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ หรือมอบแด่เจ้าเมืองที่เคารพนับถือ ซึ่งการทอผ้าลายขิดและการทำหมอนขิดได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

การทำหมอนขิดในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน หมอนขิดใช้ถวายพระในงานประเพณีสำคัญทางศาสนา เช่น งานกฐิน งานผ้าป่า งานสงกรานต์ และงานบวชนาค ใช้ในงานมงคล งานแต่งงาน หรือใช้เป็นของขวัญของฝากสำหรับแขกผู้มาเยือน การทำหมอนในระยะแรก จะทำหมอนสี่เหลี่ยมหกลูก และหมอนสี่เหลี่ยมเก้าลูก เพื่อใช้เป็นเครื่องนอนภายในครอบครัว ใช้ทำบุญในงานประเพณีของท้องถิ่นหรือที่วัด หมอนขวานหรือหมอนสามเหลี่ยม ในสมัยโบราณจะทำเป็นลายขิดขอ ต่อมาทำขิดลายช้าง ผีเสื้อ
ม้า นก เป็นต้น โดยการคิดค้นเอง และการยัดหมอนในสมัยโบราณใช้นุ่นหมดทั้งลูก ต่อมาผู้ซื้ออยากได้ลูกแข็งเพราะหนุนแล้วจะไม่ยุบง่าย ทำให้หันมาใช้ไส้ยัดกลาง ระยะแรกใช้กาบกล้วยแต่มีปัญหา เพราะไม่แห้งเกิดหนอนไชออกจากตัวหมอน จึงเปลี่ยนเป็นใช้ตอซังข้าวมัดเป็นท่อนยัดแทนทำให้การทรงตัวดีขึ้นสวยงาม แต่ถ้าส่งต่างประเทศจะใช้นุ่นทั้งหมด ไม่มีไส้เพราะป้องกันกัญชายัดไส้หมอน ยากต่อการส่งออก นุ่นที่ใช้จะมีทั้งเก่าและ ใหม่ ปกติจะใช้นุ่นเก่า ส่วนนุ่นใหม่ต้องสั่งพิเศษจึงจะมีผู้ทำให้
การเย็บหมอน จะมีการตั้งกลุ่มแม่บ้านเพื่อสอนในระยะแรก ๆ ต่อมาก็หัดเลียนแบบจากพ่อแม่ เพื่อนบ้านใกล้เคียงและบอกต่อ ๆ กัน โดยไม่มีการปิดบัง การเย็บใช้จักรเย็บไส้และตัวหมอน ส่วนหุ้มหน้า-หลัง ต้องสอยด้วยมือ ผ้าที่ใช้จะเป็นขิดฝ้าย และผ้าโสร่งแทนผ้าขิดด้วย ส่วนรูปแบบจะมีหลายแบบ เช่น หมอนสามเหลี่ยม หมอนติดเบาะ หมอนผ้าดีไซด์ ที่นอนระนาด
เบาะนั่ง หมอนขวาน หมอนข้าง หมอนเล็ก
หมอนลูกฟักทอง (สะม๊อก) ซึ่งหมอนขนาดเล็ก ใช้หนุนและทำพวงกุญแจ


กระบวนการผลิต
การพัฒนากระบวนการผลิตจากอดีตถึงปัจจุบัน ในอดีต การผลิตหมอนขิดจะใช้แรงงานทั้งหมดทุกขั้นตอน แต่ปัจจุบันได้ใช้เครื่องมือช่วยในบางขั้นตอนซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรก ดังนี้
1. การปลูกฝ้าย และการผลิตเส้นใยฝ้าย ฝ้าย เป็นพืชเศรษฐกิจ เจริญเติบโตในบริเวณพื้นที่ที่มีอากาศร้อนลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย อากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่มเงาบัง เส้นใยของฝ้ายจะดูดความชื้นได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับทอเป็นเครื่องนุ่งห่มในเมืองร้อน เพราะเมื่อฝ้ายดูดความชื้นแล้ว ความชื้นจะระเหยกลายเป็นไอ ผู้ที่สวมเสื้อผ้าด้วยผ้าฝ้ายจะรู้สึกเย็นสบาย ฝ้ายจะนิยมปลูกในเดือนพฤษภาคมต่อกับเดือนมิถุนายน หรือปลายเดือนกรกฎาคมต่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่จะช่วยให้ฝ้ายมีผลผลิตดี ครั้นประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมฝ้ายก็จะแก่และแตกปุย การปลูกฝ้ายชาวบ้านจะปลูกไปพร้อม ๆ กับการปลูกข้าว ระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกฝ้ายจนกระทั้งสามารถเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาประมาณ 6 - 7 เดือน แล้วจะนำมาทำเป็นเส้นใยของฝ้ายเพื่อมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วหรือบางแห่งอาจทำไร่ฝ้ายไปพร้อม ๆ กับการทำนา การปลูกฝ้ายซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันมากในภาคอีสานเพราะมีสภาพภูมิศาสตร์เอื้ออำนวยให้ นอกจากจะปลูกเพื่อใช้เส้นใยมาทอผ้าแล้ว ในสมัยโบราณบางครอบครัวอาจปลูกฝ้ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ในท้องถิ่นของตน เช่น แรกพริก ฟักแฟง ปลาแห้ง ปลาร้า เป็นต้น แทนที่จะเป็นผู้ทอผ้าเอง
เมื่อได้เมล็ดฝ้ายมาแล้วจะต้องทำตามขั้นตอนต่อไป ตั้งแต่การเอาเมล็ดออกจากสมอฝ้ายเรียกว่า “การอิ้วฝ้าย” การดีดฝ้าย เป็นการตีเอาปุยฝ้ายออกจากเปลือก การกรอฝ้าย คือการเอาปุยฝ้ายมาหมุนบนพื้นด้วยไม้ไผ่ยาวเป็นท่อน ๆ ประมาณ 1 ฟุต การเข็นฝ้าย เอาท่อนฝ้ายเข้าเครื่องปั่นที่เรียกว่า “หลา” หรือ “ไน” เพื่อให้ได้เส้นใย การเข็นฝ้ายจะต้องใช้ความประณีต ส่วนมากเป็นงานของผู้หญิง ในสมัยก่อนหญิงสาวมักจะนัดกันมาทำเป็นกลุ่ม ๆ ในบริเวณลานบ้าน โดยเฉพาะในคืนเดือนหงาย หรืออาจจะก่อไฟเพิ่มแสงสว่างและให้ความอบอุ่นไปด้วยในตัว ซึ่งเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบประพูดคุยกันด้วย คำผญา หรือ ผะหญา (เป็นคำนามแปลว่า ปัญญา ปรัชญา ความฉลาด เป็นคำพูดที่เป็นภาษิต มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ ประกอบด้วยถ้อยคำอันแหลมคมลึกซึ้ง คำกลอนผะหญาอาจจะเป็นคำกลอนพื้นบ้านที่บ่าวสาวผูกขึ้นมาเพื่อแก้กันหรือแคะไค้เสียดสีในการแสดงความรัก แต่ไม่ว่ากันตรง ๆ เป็นเพียงพูดเรียบเคียงกระทบ
กระเทียบเปรียบเปรยกัน และอาจจะว่ากันเป็นกลอนสดก็มีมาก) อันเป็นสื่อนำไปสู่การรักใคร่กันในที่สุด วิธีการนี้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีเรียก “ประเพณีลงข่วง” ต่อจากการเข็นฝ้ายแล้วก็นำเส้นฝ้ายที่ปั่นออกทำเป็นกลุ่ม นำไปแช่น้ำข้าวเจ้าที่นึ่งสุข แล้วนำมาตีด้วยท่อนไม้ เพื่อให้
น้ำข้าวเจ้าเข้าไปผสมกับเส้นฝ้ายจึงนำไปตากให้แห้ง เพื่อให้เส้นฝ้ายคงทนวิธีนี้เรียกว่า
“การฆ่าฝ้าย”

2. การย้อมสีและการฟอกสี
2.1 การฟอกสีฝ้าย
เมื่อได้เส้นใยฝ้ายที่เหนียวแน่น คงทนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการย้อมสีตามความต้องการ ซึ่งใยฝ้ายที่ใช้จะมีลักษณะแตกต่างกัน ในกรณีที่ต้องการจะให้เส้นฝ้ายขาว จะต้องมีการฟอกสีก่อน ก่อนจะทำการฟอกต้องต้มเพื่อแยกเอาไขมันออกจากฝ้ายเสียก่อนด้วยวิธีดังนี้
2.1.1 การต้ม ใช้โซดาแอ็ซ (Soda ash) ประมาณ 2 ช้อนสังกะสี (20 กรัม)โซดาไฟ
ประมาณ 1 ช้อนสังกะสี (10 กรัม) ลาวาปอนทีเอช ประมาณ 1 ½ ช้อนสังกะสี (20กรัม) น้ำสะอาดประมาณ 1 ปีบน้ำมันก๊าซ ต่อฝ้าย 1,000 กรัม โดยเอาลงต้มประมาณ 60 นาที หลังจากนั้นนำไปซักน้ำให้สะอาด แล้วทำการฟอกต่อไป
2.1.2 การฟอก ใช้ฝ้ายที่ต้มเตรียมเอาไว้แล้วผสมน้ำยาลงในอ่างแก้ว ดังนี้
ใช้ปูนคลอรีน (ที่ใช้สำหรับฝ้าย) ประมาณ 200 กรัม ผสมกับน้ำพอใช้นิดหน่อย ทิ้งไว้ 20 ชั่วโมง จะได้น้ำใส แล้วตักผสมกับน้ำธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง ใช้ประมาณ 1 ปีบน้ำมันก๊าซ แล้วเอาฝ้ายที่เตรียมไว้นั้นลงแช่ จนฝ้ายขาวแล้วเอาออกซักน้ำจนหมด (ตอนที่เอาลงแช่ควรได้สังเกตดูด้วยว่าฝ้ายจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ประมาณ 60 นาที หรือกว่านั้นเล็กน้อย)
2.1.3. การทำให้ขาวด้วยครามวิทยาศาสตร์ ใช้ครามวิทยาศาสตร์ประมาณ 1
ช้อนชา ละลายลงในน้ำ 1 ปีบ เอาฝ้ายลงแช่ประมาณ 20 นาที แล้วเอาออกตากโดยไม่ต้องซักใหม่อีก
2.2 การย้อมสีฝ้าย
การย้อมสีผ้าหรือเส้นด้ายสมัยโบราณนิยมใช้สีธรรมชาติที่ได้จากต้นไม้ รากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ มาย้อมเส้นด้ายหรือผ้าที่ทอจากเส้นด้าย เช่น จีวรพระ แห อวน ปัจจุบัน
ช่างทอผ้าไม่ค่อยนิยมใช้สีธรรมชาติ เนื่องจากมีวิธีการย้อม และขบวนการที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน จึงนิยมใช้สีเคมี ซึ่งมีสีให้เลือกหลากหลาย และมีวิธีการย้อมที่รวดเร็ว ฉะนั้นในการย้อมสีผ้าหรือเส้นด้าย สีที่นิยมใช้จึงมีอยู่ 2 ชนิด คือ สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติและสีย้อมที่ได้จากสังเคราะห์ทางเคมี หรือ สีย้อมวิทยาศาสตร์
2.2.1 สีย้อมธรรมชาติ
สีและวัสดุที่ใช้นำมาย้อมสีธรรมชาติส่วนใหญ่ได้จากพืช เปลือกไม้
ใบไม้ ลูกไม้ และรากไม้ มีขั้นตอนเพื่อที่จะทำให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ ได้สวยงาม แปลกตา

ต่างจากสีวิทยาศาสตร์ เช่น
สีแดง ได้จาก ดอกคำฝอย รากยอ ครั่ง
สีน้ำเงิน ได้จาก ต้นคราม
สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ขมิ้นชัน แก่นแครากต้น สะกือ
สีดำ ได้จาก ลูกกระจาย ลูกมะเกลือ
สีชมพู ได้จาก ต้นมหากาฬ และต้นฝาง
สีน้ำตาลจาก ได้จาก เปลือกโม้โกงกาง
สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
สีกากีแกมเขียว ได้จาก เปลือกเพกากับแก่นขนุน
สีกากีแกมเหลือง ได้จาก หมากสงกับแก่นแกแล
สีส้ม (แดงเลือดนก) ได้จาก ลูกตะตี
สีตองอ่อน (กระดังงา) ได้จาก รากแถลง (มะพูด)
สีเขียว ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกกระหูด
เปลือกสมอคราม แล้วย้อมทับด้วยสีรากแถลง สีเปลือกไม้ ได้จาก ต้นลูกฟ้า หนามกราย ไม้โกงกาง เปลือกตะบูน
2.2.2 สีย้อมวิทยาศาสตร์
เป็นสีที่ใช้ย้อมฝ้าย เป็นสีที่มีความคงทนดีและกรรมวิธีในการย้อมไม่ยากนัก
ได้แก่สีรีแอ๊คทีป(Reactive) และสีแวต (Vat)
2.2.2.1 สีรีแอ๊คทีป ให้ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และให้ผลของการดูดซึมในอ่างสีดีที่สุด
2.2.2.2 สีแวต (Vat) สีแวต เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ เวลาย้อมต้องอยู่ในรูปที่ถูกรีดิวส์(reduced) แล้ว โดยโซดาไฟ (caustic Soda และโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium ydrosulphite)ซึ่งจะสังเกตเห็นสีเปลี่ยนจากเดิมไป เช่น สีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เป็นต้น หลักจากย้อมแล้วทำให้สีเดิมกลับคืนมาอยู่ในรูปเดิมที่ไม่ละลายน้ำ โดยผ่านอากาศหรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์(H2O) เรียก อ๊อกซิเดชั่น (Oxidation)
การย้อมสีอาจจะย้อมเป็นสีแก่หรือสีอ่อนอย่างไรก็ได้ แต่ควรใช้ฝ้ายที่ผ่านการต้ม และถ้าจะให้ได้สีสดหรือสีอ่อน ควรใช้ฝ้ายที่ทำการฟอกมาแล้ว วิธีย้อมสี เกลือที่ใช้ปรุงอาหารหรือที่เรียกว่าเกลือแกง มีบทบาทสำคัญในการย้อมเหมือนกัน กล่าวคือ ใช้เกลือประมาณ 300 กรัมต่อน้ำอุ่น 1 ปีบ ควรใช้เกลือป่นเป็นผงจะได้ละลายเร็วขึ้น ใช้สีที่เรียกว่าสีเกลือชนิดที่ย้อมง่าย ๆ

ต้มให้เดือดประมาณ 60 นาที หลังจากนั้นก็นำไปซักน้ำให้หมดสี แล้วเอาลงแช่ในน้ำยาเลโวเกน (Levogen F.W.N.) ประมาณ 30 กรัมต่อน้ำ 1 ปีบ แช่ไปประมาณ 30-40 นาที แล้วเอาออกซักให้สะอาดจะทำให้สีทนดีขึ้น

3. การทอผ้าลายขิด
ผ้าขิด เป็นผ้าทอด้วยกรรมวิธีใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกจัดช้อนนั้น จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่าง ๆ ชาวอีสานเรียกว่า การทอผ้าแบบขิด เครื่องมือในการเก็บขิด ได้แก่ ไม้เก็บขิด ทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้แก่นเหลา แผ่นบางกว่าประมาณ 1 นิ้ว ยาวกว่าฟืมเล็กน้อย 1 อัน ไม้ช้อนขิดทำด้วยไม้ไผ่เหลากลมเล็กยาวกว่าฟืมประมาณ 20 อัน ไม้ค้ำขิด 2 อัน อันใหญ่กว้าง 5 นิ้ว อันเล็กกว้าง 3 นิ้ว เสี้ยมปลายให้เรียบเรียวมน

4. การตัดและเย็บ
ขั้นตอนการตัดเย็บหมอนขิด
1. วางผ้าในการทำหมอนขิด
2. วัดผ้าในการทำโดยการวัดความกว้างและยาวของผ้า
3. พับหน้าผ้าเข้าหากัน
4. เย็บไส้ในหมอนขิด
การประกอบหน้าหมอน
1. เย็บหน้าหมอนเข้ากับตัวกีบหน้า ขั้นตอนสุดท้ายเย็บซ้าย - ขวา เหลือตรงกลางไว้ยัดนุ่นหนาแน่นตามความต้องการ
2. ยัดนุ่นและปิดหน้าหมอน โดยการเย็บมือและสอย

การใช้เทคโนโลยีการผลิต
หมอนขิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมโดยรวมยังคงถือว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยมือ (Hand – made) มีการใช้เครื่องจักรเพียงขั้นตอนการเย็บเท่านั้น

การตลาด
หมอนขิด เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
1. ตลาดในประเทศ ได้แก่ งานเทศกาลต่าง ๆ ร้านค้าในจังหวัดและต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ราชบุรี สุโขทัย เป็นต้น
2. ตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรเลีย อเมริกา สิงคโปร์ และจีนเป้นต้น

คุณภาพและมาตรฐาน
การผลิตหมอนขิดบางที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ดังนี้
1. สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา โดยกระทรวงพาณิชย์
2. มาตรฐานสินค้าชุมชน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
3. ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูป โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



บทที่ ๒
การวิเคราะห์คุณค่า ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ ปัจจัยต่าง ๆ ทีเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา

คุณค่าของผลิตภัณฑ์
ผ้าขิด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหมอนสามเหลี่ยม หรือ หมอนขิด ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีความผูกพันและมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวบ้านมาแต่โบราณ โดยมีการนำหมอนขิดมาใช้งานในหลายรูปแบบ ทั้งที่ใช้สอยเองในชีวิตประจำวันและ เป็นของฝาก สิ่งของประดับ จนหมอนขิด
กลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ทุกคนให้การยอมรับและภาคภูมิใจ ซึ่งมีคุณค่าในหลาย ๆ ด้านดังต่อไปนี้
1. ด้านประโยชน์ใช้สอย จะได้ประโยชน์จากการใช้หมอน คือหมอนใช้หนุนศีรษะ
ท้าวแขน ใช้อิง ใช้พิง และจากคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้หมอน ตั้งแต่บรรพกาล มีความเชื่อว่า ไม่ควรเอาหมอนมารองนั่งเป็นอันขาด เพราะถือว่าหมอนเป็นของสูงที่ใช้รองศีรษะ ไม่สมควรนำมารองนั่ง จึงเป็นการสอนให้คนในสังคมประพฤติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงฐานันดรของคนในสังคม ที่ควรกระทำให้เหมาะสมกับกาลเทศะ หมอนขิดจึงเป็นเสมือนสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและสถานะของมนุษย์ในสังคมนั้น
2. ด้านศาสนา ใช้ในงานทอดกฐิน ชาวบ้านจะนำหมอนขิดขนาดใหญ่สำหรับถวายพระสงฆ์ โดยมีความเชื่อว่าหมอนขิดที่นำไปถวายพระมีขนาดใหญ่เท่าใดก็จะได้บุญมากเท่านั้น การบวชนาคก็นิยมใช้หมอนขิดด้วย เพื่อเป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์
3. ด้านประเพณี เช่นงานบุญประจำปี หรือบุญพระเวส ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ ในขบวนแห่จะมีการแสดงกัณฑ์ต่างๆ ของชาดก เรื่องพระเวสสันดร ชาวบ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนด้วยการแต่งกายแบบชุดพื้นเมืองและนำหมอนขิดไปถวายพระที่วัดด้วย
4. ด้านสังคม ใช้เป็นของฝากระหว่างญาติ เพื่อน หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน เป็นของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่เป็นที่ภูมิใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
5. ด้านเศรษฐกิจ เป็นสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชนและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นแหล่งหัตถกรรม ที่สามารถรักษาความเป็นพื้นบ้านแบบดั้งเดิมผสมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของสังคม
ยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

แนวคิดซึ่งได้มาในตัวผลิตภัณฑ์
มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการย้อมสี โดยการย้อมสีเส้นใยฝ้าย จากวัสดุธรรมชาติ เช่นเปลือกไม้ ตัวอย่างสีเขียว จากเปลือกต้นมะม่วง สีแดงจากเปลือกต้นประดู่ หรือต้นฝาง ผลิตภัณฑ์หมอนขิดสีธรรมชาติเป็นที่ต้องการของตลาดมากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการย้อมสีจากเคมีตลาดต้องการน้อยกว่า

รูปแบบและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์
หมอนขิดมีรูปแบบและลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน มีวิวัฒนาการของลวดลายในหมอนขิด ซึ่งเริ่มจากลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายดอกแก้วลายเดือนรอบดาว ลายขอ
ลายกาล ลายช้าง ลายม้า ที่ได้แนวคิดจากเรื่อง
พระเวสสันดร พระเจ้าสิบชาติ และพระนเรศวร ต่อมาได้พัฒนามาเป็นลายใหม่ขึ้นมา เช่น ลายดอกประจำยาม ลายไทย ที่ได้จากการแกะลวดลายตามประตูหน้าต่าง
โบสถ์และวิหารด้วยความเคารพในพุทธศาสนา

และบางแห่งมีเอกลักษณ์ลวดลายที่สะท้อนความเป็นชุมชน เช่น หมอนขิดบ้านป่าตอง มีเอกลักษณ์ในเรื่องของลวดลายที่มีแรงบันดาลใจมาจากดอกมะลิ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม จึงได้นำลายดั้งเดิมมาประยุกต์กับผ้าพิมพ์ลายไทยของภาคใต้ เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นลายดอกไม้สีขาวบนพื้นที่สีเขียว เรียกว่า ลายดอกมะลิใหม่ส่งเข้าประกวดภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหัตถกรรม ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดและระดับเขต

ภูมิปัญญาสะท้อนวิถีชีวิตชุมชน
มีความเชื่อหรือคำสอน ตั่งแต่สมัยบรรพบุรุษที่แสดงให้ทราบถึงค่านิยมในการครองเรือนที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า ว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวัยพร้อมจะมีครอบครัวต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือต้องมีความสามารถในการทอผ้าเพื่อใช้สอยในครัวเรือน ทั้งเสื้อผ้า และเครื่องใช้ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และได้มีการนำหมอนขิดไปถวายพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และมอบแด่เจ้าเมือง ซึ่งถือว่าเป็นของสูงค่า การทำหมอนขิด เป็นการพัฒนาจากเดิมที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ใช้เองในครอบครัว และได้ปรับปรุงการทำเพื่อใช้สำหรับถวายพระ ใช้ในเทศกาลงานบุญประเพณีต่าง ๆ และฝากเจ้านายในโอกาสต่าง ๆ จากนั้นได้มีการนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมในครัวเรือนขึ้น โดยมีการพัฒนากิจกรรมการผลิตอย่างกว้างขวาง มีการทำกันแทบทุกครัวเรือนต่อมาเมื่อมีญาติ พี่น้องและชาวต่างถิ่นมาเยี่ยมเยียนหรือได้ไปทำบุญที่วัดแล้วพบเห็น ก็เกิดความสนใจและสั่งซื้อ กิจกรรมการทำหมอนขิดจึงเริ่มพัฒนาจากการทำเพื่อใช้ในครัวเรือนและใช้ในหมู่บ้านไปสู่การผลิตเพื่อการค้า มีการพัฒนาและขยายการผลิตออกไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกิจกรรมที่เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนที่สำคัญของชาวบ้านในที่สุด
หมอนขิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ที่มีอยู่เดิม และได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนำมาสร้างสรรค์ เป็นสีสัน ลวดลายและรูปแบบใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน โดยการนำวัตถุดิบและทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น ฝ้ายนุ่น สีจากธรรมชาติ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในครัวเรือนและเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัวและชุมชน ชาวบ้านเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่อยู่กันไปวันๆ หันมารวมตัวกันทำหมอนขิดเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำหมู่บ้าน เพราะถ้าเศรษฐกิจดีมีรายได้ ผลที่ตามมาคือ การได้ครอบครัวกลับมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็กลับมาทำงานที่บ้านเพราะมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว และมีเงินเก็บออม ก่อให้เกิดครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็ง สนองตอบนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ซึ่งเป็นรากฐานต่อการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งสืบต่อไป

กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญา
ความสามารถและความชำนาญด้านงานหัตกรรม ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทางสังคมอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของคนในสังคม ในภาคอีสาน ชายหนุ่มต้องจักสานเก่ง ทำเกวียนได้ สร้างบ้านได้ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะมีครอบครัว ส่วนหญิงสาวต้องทอผ้าเก่ง มัดหมี่ได้สวยงาม เย็บที่นอนเป็น และทำหมอนขิดได้ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีความพร้อมด้วยคุณสมบัติของสตรี ฉะนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต คนหนุ่มคนสาวต้องหา “อาจารย์”

เพื่อฝึกฝนตนเองในแต่ละแขนงและประเภทหัตถกรรม ด้วยเหตุนี้การสืบทอดหัตกรรมในสังคมไทยโดยเฉพาะในภาคอีสาน จึงเป็นกระบวนการทางสังคมที่ค่อยๆ ยกระดับฝีมือ ความรู้ความชำนาญของผู้ผลิตตลอดเวลา อีกทั้งการถ่ายทอดและการสืบทอดงานหัตถกรรมในสมัยก่อนเกิดขึ้นจากมิติทางสังคมและวัฒนธรรมบนฐานความคิดของการพึ่งตนเองไม่ให้หายใจร่วมจมูก
คนอื่น ฉะนั้น การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนจึงมีความสำคัญเท่า ๆ กับการประกอบอาชีพหรือการทำมาหากิน พ่อแม่ถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องถ่ายทอดความรู้ และความสามารถทุกอย่างที่ตนมีอยู่ให้แก่ลูกหลานโดยไม่ปิดบัง
หมอนขิด เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาช้านานได้มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ ลวดลายและรูปแบบใหม่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในท้องถิ่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน มีการรวมกลุ่มผู้ผลิต และศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน ผู้สนใจ และ
ผู้มาศึกษาดูงานสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีการจัดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทำหมอนขิดสำหรับเด็ก
ในโรงเรียน เช่น แผนการจัดประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ หน่วยเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก (อาชีพในชุมชน) และหลักสูตรวิชาการงาน(เพิ่มเติม) ช่างเย็บหมอนขิด กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ใช้สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และสนับสนุนกิจกรรมงานอาชีพด้านการทำหมอนขิดสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงหลักสูตรงานอาชีพระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นอย่างดี


บทที่ 3
ข้อเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญาตามความเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาโดยภาพรวมของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านแม้ว่าจะเป็นองค์ความรู้อันมหาศาลที่มีอยู่ทั่วไปทุกหมู่บ้านก็ตาม แต่เมื่อถูกละเลยขาดการยอมรับ ขาดการสืบทอด ในที่สุดก็จะขายสายใยแห่งการต่อโยงระหว่างเก่ากับใหม่ ระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างน่าเสียดาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการยกย่องภูมิปัญญาชาวบ้านให้สืบทอดต่อไป ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ ควรมีแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญา ดังข้อเสนอแนะแนวทางต่อไปนี้
1. ทำความเข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยส่งเสริมเจ้าหน้าที่ขององค์กร ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้าน จากนั้นควรจัดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมเยียน ศึกษาดูงาน พบปะสนทนากับชาวบ้าน และร่วมกิจกรรมชุมชนที่ชาวบ้านได้จัดขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สำหรับเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะร่วมวางแผนดำเนินการส่งเสริมพัฒนา ฟื้นฟู สืบทอดต่อไป
2. มีการเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสืบค้น สอบถาม ขอความร่วมมือจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูล แล้วมาวิเคราะห์จัดระบบ จัดพิมพ์ในรูปของสื่อเอกสารหรือสื่อเผยแพร่
อื่น ๆ สำหรับการศึกษา ส่งเสริม เผยแพร่ ค้นคว้า วิจัยในระดับลึกต่อไป
3. มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นรากเหง้า พื้นเพของภูมิปัญญานั้นๆ ทั้งนี้โดยเน้นให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research) เป็นพิเศษ
4. มีการส่งเสริมเผยแพร่ โดยรวบรวมองค์ความรู้ที่เหมาะสมแล้ว เลือกสรรอย่างพิถีพิถัน นำมาจัดทำสื่อเพื่อทำการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทุกสาขา ตามโอกาสอันเหมาะสมโดยมีเป้าหมายเผยแพร่ในประเทศเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านนำความรู้ภูมิปัญญาไปสืบทอด ปรับปรุงและพัฒนา ให้ทันสมัย ส่วนการเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศก็เพื่อให้เห็นถึงศักดิ์ศรีอันดีงามของปราชญ์ชาวบ้านไทย และเกียรติภูมิของชาติไทยเป็นสำคัญ
5. มีการสนับสนุนคืนภูมิปัญญาให้แก่ชาวบ้าน โดยการยอมรับในการมีภูมิปัญญาของชาวบ้าน ยอมรับในศักยภาพของชาวบ้านให้เป็นตัวของตัวเอง ให้มีอิสระสามารถตัดสินใจได้อย่างมีศักดิ์ศรี เลิกครอบงำชาวบ้าน โดยการยกย่องให้กำลังใจในผลงานที่เขาคิดเขาทำ เป็นการเสริมแรงให้มีความเชื่อมั่นว่าเขามีความสามารถช่วยตัวเองได้เหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา

6. มีการประสานเพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน สนับสนุนให้มีการนดูงานเพื่อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันของชาวบ้าน

ข้อเสนอแนะส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำหมอนขิด
1. ควรส่งเสริมให้มีการนำสีธรรมชาติ มาใช้ย้อมสีฝ้าย เพราะผลิตภัณฑ์หมอนขิดสีธรรมชาติเป็นที่ต้องการของตลาดมากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการย้อมสีจากเคมีตลาดต้องการน้อยกว่า
2. ส่งเสริมการปลูกนุ่นแบบสวนหลังบ้านและสวนเกษตรในอนาคต เพื่อให้ผลผลิตนุ่นในท้องถิ่นเพียงพอต่อการใช้สอย เนื่องจากมีการใช้นุ่นเป็นไส้หมอน ในบางแห่งผลผลิตนุ่นที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอ จึงต้องสั่งซื้อนุ่นจากแหล่งอื่น
3. วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า สร้างสรรค์ความคิด พัฒนารูปลักษณะหมอนขิด
ของกลุ่มให้มีความหลากหลาย โดยให้สมาชิกภายในกลุ่มจะช่วยกันคิดและศึกษาข้อมูลรูปลักษณะจากกลุ่มอื่นๆ แล้วนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตน โดยส่วนมาก ลูกค้าส่วนหนึ่ง จะชอบรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน และอีกส่วนหนึ่งจะเลือกแบบลวดลายใหม่ ๆ
4. ดำเนินการพัฒนาตลาด โดยการหากลุ่มเป้าหมายใหม่ เน้นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น
5. หาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยการจัดหาแหล่งจำหน่าย เพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้มากที่สุด
6. มีการส่งเสริมการตลาด ซึ่งประกอบด้วย การโฆษณา การส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์ โดยมีจุดหมายที่จะบอกให้ผู้บริโภคทราบถึงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ



บรรณานุกรม

ดร. เสรี พงศ์พิศ,ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท เล่ม ๑,กรุงเทพ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),2536

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ,ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน,กรุงเทพ: ต้นอ้อ,2538http://www.sacict.net/research/T053.doc

http://www.thaitambon.com/Tambon/tcommdesc.asp?ID=460102&SME=0211414489

http://web.eng.ubu.ac.th/~seminar/research/e_commerce/index.php

http://cddweb.cdd.go.th/patiu/ci

http://www.katz-thaiimport.de/images/handarbeit-images/gescheckartikel

http://www.opdc.go.th

http://cddweb.cdd.go.th/cdregion03/cdr03/onetambon.htm

http://www.poompanyathai.com/manAgi/images/logoPoom1.gif

http://www.designboom.com

http://www.baanmaha.com/community/images/misc

http://www.sacict.net/research/T053.doc

http://online.benchama.ac.th/social/kanokporn/les6_02.html

http://202.29.22.173/php/localStudent2548/SumWeb/GUNTARAVICHAI/nitikon/words.doc

วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

บทวิเคราะห์ภูมิปัญญาที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรม

บทวิเคราะห์ภูมิปัญญาที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรมนิทานอีสานเรื่อง กาละเกด

ที่มาของเรื่อง กาละเกด
เป็นเรื่องปรากฏอยู่ในพระเจ้าห้าสิบชาติ ซึ่งอาจไม่ตรงกับ ปัญญาชาดก ก็ได้ เพราะในความหมายของพระเจ้าห้าสิบชาติของอีสาน จะหมายถึงเรื่องชาดกทั้งหมดต้นฉบับเดิมเป็นอักษรไทยน้อย ท่านเจ้าคุณอริยานุวัตร กล่าวไว้ว่า ได้ต้นฉบับมาจากวัดสว่างอารมณ์ อ.เมือง จ. ร้อยเอ็ด และได้พิมพ์ เผยแพร่เป็นอักษรไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ความยาว ๔๘๐ หน้า จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในท้องถิ่นอีสาน ต่างก็กล่าวว่า เป็นวรรณกรรมที่แพรหลายมากในสมัย 20 - 30 ปีก่อน หมอลำนิยมนำเรื่องกาละเกดมารำอยู่เนือง ๆ

ผู้ประพันธ์ และสมัยการประพันธ์
จากข้อความในเรื่อง ได้บอกชื่อผู้ประพันธ์ว่า “สมเด็จกุ” สมเด็จ น่าจะเป็นตำแหน่งทางสงฆ์มากกว่าพลเรือน นามจริงว่า “กุ” และกล่าวไว้ชัดเจนว่าเป็นกวีเมืองศรีสัตนาครหุต(เวียงจันทร์) และได้กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ว่า “สมเด็จเจ้าเชียงทอง” ซึงเป็นสามานยนามที่นิยมเรียกกษัตริย์ลานช้าง
โดยทั่วไป เมื่อพิจารณาศักราชที่ปรากฏอยู่ว่า “๑๑๐๐” ซึ่งเป็นจุลศักราช ๑๑๐๐ ตรงกับ พ.ศ.๒๒๘๑ เมื่อเทียบเคียงศักราชดูแล้วตรงกับรัชสมัยของพระมหาบุญไชยเชษฐาธิราช (สิริบุญสาร) พ.ศ.๒๒๗๕ ถึง พ.ศ.๒๓๒๓

ฉันทลักษณ์ของโครงเรื่อง
วรรณกรรมนิทานอีสานเรื่องการะเกด ลักษณะการประพันธ์เป็นการประพันธ์แบบโครงสาร ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่ากลอนลำ ซึ่งเป็นคำโคลงโบราณ นิยมประพันธ์วรรณกรรมที่ใช้อ่านโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมนิทาน หรือวรรณกรรมพุทธศาสนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ ที่ใช้อ่านในงานศพ ที่เรียกว่า “งันเฮือนดี” ( สมโภชเรือนมงคล – เรียกให้เป็นมงคลนาม) โดยเจ้าภาพจะหาหมออ่านมาขับลำหนังสือให้
ผู้ที่มาชุมนุมร่วมบุญกุศล ประหนึ่งมหรสพ


เนื้อเรื่อง โดยสรุป
ท้าวสุริวงศ์เกสนุราชครองเมืองพาราณสี มีมเหสีนามว่านางกาละ โอรสทรงพระนามว่า ท้างกาละเกด (พระโพธิสัตว์มาเกิดเพื่อใช้ชาติ) เมื่อเจริญวัยได้ม้ามณีกาบซึ่งมีพลานุภาพมาก
สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ท้าวกาละเกดได้ทรงม้ามณีกาบประพาสป่า ม้ามณีกาบพาท้าวกาละเกดมาถึงเมืองท้าวผีมนต์ (ยักษ์) ซึ่งมีมเหสีชื่อ นางมาลีทอง ธิดาชื่อนางมาลีจันทร์ ซึ่งพระอินทร์ส่งมาเกิด
เป็นเนื้อคู่ของท้าวกาละเกด ท้างกาละเกดพบนางในสวนหลวงก็หลงรัก จึงกำบังกายด้วยเวทย์มนต์
ตามนางมาในปราสาท แล้วปรากฏให้นางเห็นกาย ท้าวกาละเกดได้กำบังกายเข้ามาหานางในปราสาททุกวันพวกนางสนมแอบดูพบว่าพระธิดามีชายหนุ่มเข้ามาหาที่ห้องบรรทมทุกคืน จึงนำความมากราบทูลท้าวผีมนต์ ๆ กริ้ว จึงสั่งให้ผูกยนต์ (อาวุธที่เป็นกลไก) ไว้ที่ประตู ท้างกาละเกดเสด็จมาหานางมาลีจันทร์จึง
ถูกยนต์ตายพร้อมกับม้ามณีกาบ ก่อนสิ้นใจท้าวกาละเกดร้องขอให้นางมาลีจันทร์นำศพพระองค์และม้า
มณีกาบไปลอยแพ ท้าวสุบรรณเจ้าเมืองครุฑบินมาพบศพลอยแพ รู้ว่าเป็นศพผู้มีบุญญาธิการ จึงคาบศพทั้งสองไปยังอาศรมฤๅษี ร้อนถึงพระอินทร์ๆ จึงเสด็จลงมาบอกมนต์ฤๅษีชุบชีวิตท้าวกาละเกดพร้อมทั้งมอบศร พระขรรค์ ให้ด้วย ครุฑชวนไปอยู่เมืองด้วย แต่ท้าวกาละเกดยังคิดถึงนางมาลีจันทร์อยู่จึงขี่ม้ามณีกาบไปหานาง แล้วเล่าเรื่องให้นางฟัง ท้างกาละเกดเนรมิตตัวเองเป็นมาลัยประดับเกศานางมาลีจันทร์ อยู่ด้วยกันเป็นสุขมาเป็นเวลานาน ท้าวกาละเกดยังแค้นใจท้าวผีมนต์ที่คิดประทุษร้าย จึงปรากฏตัวรบกับยักษ์ผีมนต์ฆ่ายักษ์ตายหมด ภายหลังท้าวกาละเกดแผลงศรชุบชีวิตยักษ์ฟื้นทั้งหมด ท้างผีมนต์เกรงกลัวมากจึงยกเมืองให้ครอง แต่ท้าวกาละเกดขอพานางมาลีจันทร์กลับเมืองพาราณสีก่อน
ทั้งสามเดินทางรอนแรมมา ได้ฆ่ายักษ์พาลทั้งหลายแล้วชุบชีวิตฟื้นคืนมา แล้วสอนให้อยู่ในศีลกินในทานประพฤติตนอยู่ในคลองธรรม ครั้นถึงป่าแห่งหนึ่งกินรีสามพี่น้องลักพาท้าวกาละเกดไปเป็นสามี ม้ามณีกาบให้นางมาลีจันทร์คอยอยู่ตนจะติดตามหาท้าวกาละเกดๆ หลงเสน่ห์นางกินรีสามพี่น้องเพราะกรรมมาบัง เนื่องจากผลเวรชาติปางก่อนจึงพลัดพรากจากกันถึง ๒ ปี ท้าวกาละเกดจึงคิดถึงนางมาลีจันทร์ ส่วนม้ามณีกาบหลงทางปล่อยให้นางมาลีจันทร์อยู่คนเดียว ร้อนถึงอิศูรย์ ๆ จึงมารับนางไปอยู่ด้วยในเมืองให้นางคอยสามี
ม้ามณีกาบหลงทางไปอาศัยอยู่กับฤาษี นางกินรีสามพี่น้องเป็นธิดาฤๅษี วันหนึ่งนางมาหาพ่อและเล่าเรื่องท้าวกาละเกดให้ฤๅษีฟัง ม้ามณีกาบทราบเรื่องจึงออกติดตามท้างกาละเกด เมื่อพบกันแล้วจึงออกติดตามนางมณีจันทร์ต่อไปจนถึงเมืองอิศูนย์ เสนาท้าวอิศูนย์บอกว่านางคอยอยู่ในเมือง ท้าวกาละเกดเข้าไปพบนางในเมือง ทั้งสามจึงพากันกลับเมืองพาราณสี ตามทางรบกับยักษ์โขโน ๆ บอกไปยังเพื่อนยักษ์พานสวงให้ยกทัพมาช่วย ท้าวกาละเกดฆ่าตายหมด แล้วแผลงศรพระขรรค์ชุบชีวิตทั้งหมด ยักษ์รู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์จึงยอมอ่อนน้อม ท้าวกาละเกดสอนธรรมมะให้อยู่ในศีลในธรรม
ทั้งสามเดินทางมาถึงเมืองกุมพล (ยักษ์) ท้างกุมพลสะกดมนต์ลักพานางมาลีจันทร์ไป ท้าวกาละเกดตามไปทันรบกันด้วยอิทธิฤทธิ์ ท้างกุมพลสู้ไม่ได้บอกเพื่อนชื่อท้าวอีศวร(ยักษ์) มาช่วยรบ ไพร่พลตายเกือบหมด บอกเท้าสุบรรณเมืองครุฑมาช่วยรบ ท้าวสุบรรณแจ้งให้ทราบว่าท้าวกาละเกดคือ
พระโพธิสัตว์พวกยักษ์จึงยอมอ่อนน้อม ท้าวกาละเกดจึงชุบชีวิตสมุนยักษ์ทั้งหมด แล้วสอนศีลธรรมคืนเมืองให้ปกครอง ท้างกุมพลสร้างพลับพลาให้ท้างกาละเกดแล้วป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ มาอ่อนน้อม ท้าวกาละเกดสั่งสอนหลักธรรมเจ้าเมืองทั้งหลายให้อยู่ในราชธรรม และฮีตบ้านคองเมือง
ท้าวกุมพลยกธิดาชื่อกากีเป็นชายาแก่ท้าวกาละเกดด้วย ในที่สุดท้าวกาละเกดเข้าเมืองพาราณสี โดยมีกองทัพยักษ์บริวารทั้งหลาย รวมทั้งครุฑ นาค ทั่วจักรวาล ยกทัพเป็นขบวนตามเสด็จ ท้าวเกสนุราชมอบเมืองพาราณสีให้ท้าวกาละเกดครอง บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุขทั่วจักวาล อันรวมอมรโคยานทวีป
อุตรกุรุทวีปและบุรพวิเทห์ทวีปด้วย

บทวิเคราะห์

จากที่ได้ศึกษาวรรณกรรมนิทานอีสานเรื่อง กาละเกด สามารถวิเคราะห์คุณค่าและภูมิปัญญาที่ได้จากวรรณกรรม ได้ดังนี้

1. ภูมิปัญญาด้านการหลักธรรมในการการปกครอง กวีพยายามสรุปว่าธรรมครองโลกจะมีสันติสุขที่ถาวร กวีเน้นราชธรรมสิบประการของเจ้าเมือง สร้างให้สังคมเห็นภาพพจน์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลแห่งธรรมครองโลก โลกจะสันติสุขอย่างแท้จริง กวีได้นำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนา
มาสอดแทรกไว้ในเรื่องราวโดยตลอด ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องใช้กฎหมายเป็นข้อบังคับสังคม ดังนี้

บันแต่บรมท้าวพระยาหลวงกาละเกด คำอธิบายศัพท์
เสวยอยู่สร้างเมืองกว้างชอบธรรม
อยู่สนุกล้นโยธาพลไพร่
ก็บ่ทุกข์ยากไร้สังแท้สำราญ สัง – ไฉน, สิ่งไร, อะไร
คันว่า สาลีข้าวในนามูลมาก
คนบ่ได้ปลูกสร้างสังแท้เกิดมี
กัลพฤก์ลุนลัวะหลากเต็มดอน ลุนลัวะหลาก - หลั่งไหลพรั่งพรู
เป็นกลอกเกิดมาเหลือล้น
แหมองซ้อนดางหวิงนามน่าง แห, มอง, ซ้อน, ดาง, หวิง
กะต่ะห้างโทนแร้วบ่ห่อนมีเจ้าเอย นาม, น่าง – เป็นเครื่องจับปลา
อันว่าโยธาท้าวเสนาน้อยใหญ่ กะต่ะ,ห้าง,โทน, แร้ว – ทุกชื่อ
ก็บ่บังเบียดฆ่าคณาเนื้อมอกชีวัง เป็นเครื่องดักสัตว์
มีท่อจำศีลสร้างภาวนาเช้าค่ำ
สัตว์สิงห์เค้าคณาเนื้อพึ่งบุญ
ฝูงเขาฆ่าศัตรูกันเว้นห่าง
วางคาดเว้นใจมั่นต่อศีล
แมวหนูไว้ปฏิญญาณเป็นเสี่ยวกันแล้ว เสี่ยว – เพื่อน้ำสาบาน
นกเค้าเว้นสหายเพียงร่วมกา
งูว่างเว้นคำชังรักเขียด คำ ความ,คำชัง – ความเกลียดชัง
ช้างใหญ่น้อยเป็นเสี่ยวราชสีห์
ไมตรีรักเพื่อนบุญบาท้าว บา – หนุ่ม, ใช้เรียกชื่อเจ้านาย
ขงพะลานกว้างคนพลอยทุกข์มอด ขง – เขต, ขอบเขต
ยูท่างชมแต่ชู้มิร้อนร่วมใด ยูท่าง – สะดวกสบาย
ใจยินดีตั้งดอมผัวสนิทเชื้อ ดอม – ด้วย, อยู่ด้วย
ก็บ่คิดโลภเลี้ยวมีชู้จากผัว
เพราะเพื่อบุญบาท้าวเทศนาสอนสั่ง
ศีลห้าแปดตั้งคาเนื้อคุคน คุ – ทุก,ซุ, สุ ก็ว่า

2. ภูมิปัญญาด้านการใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน กวีได้บรรยายสภาพชีวิตของชาวบ้าน วรรณกรรมอีสานเรื่องกาละเกด กวีไม่ได้ละเลยที่จะเน้นความสำคัญของชาวบ้าน ไพร่ฟ้า ประชาชน ในการร่วมพิธีกรรมของบ้านเมืองอยู่เนื่องๆ ส่อให้เห็นว่าชาวบ้านในสังคมอีสานโบราณนั้นมีส่วนในการร่วมกิจกรรมของบ้านเมือง ช่องว่างระหว่างชนชั้นเกือบจะไม่ปรากฏ จากการที่กวีได้กล่าวถึง
สภาพชีวิตของชาวบ้าน ค่านิยมของสังคมอีสานโบราณ มหรสพที่เล่นกันสมัยนั้น เช่น โขน ระเม็ง กายกรรม การหยอกเย้าเล่นหัวระหว่างหนุ่มสาวเป็นสภาพจริงของชีวิตไทยในชนบท

เครงเครงก้องกงบนฟ้าเกลื่อน คำอธิบายศัพท์
เสียงเสพเจ้าออนอิ่งกล่อมกลม
สาวงามเลื่อมคันยูคับคั่ง คันยู – ร่ม, กางร่ม
ขับแขกฟ้อนโคลงฟ้าอ่านสาร
ทมทมก้องเมามั่วมวนมี่ มวนมี่ – เสียงดัง
โชคส่ำร้างฝุงหม้ายหมู่โถง โถง – นักเลง
สัพเพพร้อมปนสาวสมบ่าว
คึดฮอดลูกเจ้าลุ่มฟ้าแพงข้างล่วงไป คิดฮอด – คิดถึง
หญิงชายรู้เรียงกลกานท์ย่อย ถุ่ง – มุ่งหน้าไป
บางพ่องเหลียวงวกหน้าจาชู้ดุ่งเดิน พ่อง – พวก,เหล่า งวก – หัน,
อ้ายนี้มักหม่อมน้องเป็นยิ่งอจินไตย น้องเอย เหลียวมอง จา – พูด,มักใช้ว่าจาต้าน
คือดั่งเดือนดาวใสบ่อาจบายเอาได้ บาย – จับ, ลูบคลำ
คือดังอาชาไนยม้าเดินทางหิวหอด
มาผ้อน้ำในส้างเบิ่งดายนั้นแล้ว ผ้อ(ผ่อ) – พบ,เห็น ส้าง – บ่อน้ำ
สาวจาต้านดอมชายไยหยอก เบิ่งดาย – ดูเฉย ๆ
น้องนี้ เพียงดังมาลาสร้อยบานเรืองในป่า จาต้าน – พูดจา,เจรจา
กลิ่นบ่หอมลุดล้มดมแล้วก็เล่าวาง นั้นแล้ว ดอบ - ด้วย,อยู่ด้วย
แม่นถึงภุมรินทร์กลั้วดวงหอมเอากลิ่น
ดอกไม้บ่หอมร่วงเร้าเห็นแล้วก้เล่ากราย
แต่นั้น ไทระเม็งหลิ้นโขนหนังเต้นไต่ หลิ้น – เล่น
กวัดแกร่งฟ้อนลาค้างหอกทวน
หัวโขนฟ้อนตึงตางลึกลาก
ถือแบกค้อนตะบองเต้นดั่งสิตี สิ – จะ ซิก็ว่า
พวกหนึ่งตนโตแต้มลายเสือออกเหล่า
ตาเหลือกม้านทวนไค้ดั่งสิแทง
สาวรามร้องหัวนันซีสว่า วีสว่า – เสียงดัง
บางพ่องเมาเหล้าล้มกุมกลั้วกอดสาว
ท่าวเซซายไปมากลิ้งเกลือก ท่าว – ล้มลง
จับแจงผ้าสาวร้องบีบนม แจง – แก้,ถอดผ้า,แจ่ง ก็ว่า
ซมเซล้มเมามัวอยู่ม่วน ม่วน – สนุกสนาน
บางพ่องใส่สวกหลิ้นสาวน้อยหยอกไย สวก – พูดแทะโลม,พูดใส่, ไย-เย้า หยอกเอิน
แซวแซวเว้าตามทางยูท่าง ยูท่าง – สะดวก, สนุก
กะสิงม่ายฟ้อนระเม็งเต้นไต่หนัง กะสิง – นางละคร
ราชาเจ้าทวนพลเดินดุ่ง

3. ภูมิปัญญาการใช้สุภาษิตคำสอนสอดแทรกในบทกวี ซึ่งกวีได้สอดแทรกคำภาษิต สุภาษิตไว้ในเรื่องโดยตลอด คำภาษิตเหล่านี้กวีคงนำมาจากคำผญาภาษิตต่างๆ ของท้องถิ่นนั่นเอง โดยมาปรับปรุงให้สอดคล้องเข้ากับลำดับขั้นตอนของเนื้อเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น
3.1 ตอนเท้ากาละเกดพบนางมาลีจันทร์ได้กล่าวเกี้ยวพาราสีว่า “ พี่รักน้องแต่น้องไม่ปราณีพี่” ก็เหมือนกับเอาไซมาดักปลาใต้น้ำ มันไม่มีโชค ไม่ฉลวย ถูกปลาหรือไม่ถูกปลาก็ตามแต่ ดังนี้
อ้ายนี้เป็นดังไวใส่ใต้หลังบ่หมาน
ถืกก็ใส่ไว้บ่ถืกก็ใส่ตามช่างกะเยิมปลา
3.2 นางมาลีจันทร์ได้กล่าวตอบว่า เมื่อได้นางแล้วจะลืมเหมือนกับปลาเน่าค้างบนดิน
คอยฝน คอยท่าจอมกษัตริย์เหมือนดังฝนแก้วที่จะตกลงมา (เพื่อช่วยชีวิตปลา) ดังนี้

อย่าได้ไลลาน้องวางเสียร้างเปล่า ไลลา – ลืม.ไลก็ว่า
เป็นดั่งปลาเน่าค้างดินแห้งง่องฝน นี้แล้ว ง่อง – คอย,งองก็ว่า
อันว่า จอมกษัตริย์บุญครามมาโผดน้องนี้ โผด – โปรด
เหมือนดั่งฝนห่าแก้วระงมกลุ้มหลั่งลง แลเด


3.3 คำภาษิตเปรียบเทียบความรักว่า ถ้าบุญไม่ต้องกันแล้วจะทำฉันใดก็ต้องแคล้วกัน คือตอนที่ท้าวกุมพลลักพานางมาลีจันทร์ไป แต่ก็ไม่เห็นนางทั้ง ๆ ที่นางอยู่บนรถนั่นเอง ซึ่งกวีได้ยกเอา
คำภาษิตที่เชื่อว่า การมีคู่ครองกัน นั้นย่อมต้องแล้วแต่บุญที่เคยร่วมสร้างกันไว้แต่ชาติปางก่อน ถึงแม้จะฝืนดวงชะตาย่อมเป็นไปไม่ได้เหมือนกับจะทำฝายกั้นแม่น้ำก็หากหักพัง โชคไม่อำนวยทอดแหเท่าไรก็ไม่ได้ปลา นาขาดน้ำจะทำเหมืองเอาน้ำใส่ แต่น้ำไม่ไหลเหมือนกับเอาน้ำขึ้นโพน

บุญบ่ดอมกันสร้างแสนสิปองก็ยินยาก ดอม – ด้วย, สิ – จะ
แสนสิปั้นแม่น้ำฝายต้อนหากขาดกลาง
ปลาบ่หมานแสนสิเอาแหหว่าน หมาน – ฉมวย, มีโชค,เฮง
ข้องโป้ร้องร่ำไห้หาต้อนต่งปลา ต่ง – รับ,คอยรับ
นาเขินน้ำจักแปงเหมืองเข้าใส่ แปง – สร้าง,ทำ
น้ำบ่ไหลท่อก้อยคือเอาขึ้นโพน
คือใจบ่ใสต่อแก้วแยงเงาก็บ่ส่อง แยง – มองดู
ใจบ่ใสต่อฆ้องตีได้ก็บ่ดัง นั้นแล้ว

4. ภูมิปัญญาการใช้คำสอนให้กตัญญูกตเวที มีความผูกพันระหว่างเครือญาติ กวีเน้นความผูกพันระหว่างพ่อแม่-ลูก และพยายามสอนให้ลูกระลึกถึงคุณบิดามารดาอยู่เสมอ เช่นที่
นางมาลีจันทร์ ขอติดตามท้าวกาละเกดไปด้วย ท้าวกาละเกดได้กล่าวถึงภาษิตโบราณให้นางได้คิดว่า

โอ้นอ น้องเอย
เจ้าอย่าไลวางไว้สองเผือพ่อแม่ ไล – ลืม,หลง, เผือ – เรา
บ่ควรปะไปล่ไว้เมืองบ้านสิหม่นหมอง ปะ – ละเลย, อย่า,ร่าง
บ่ควรไลวางถิ้มพงศ์พันธ์พี่น้องเก่า ถิ้ม – ทิ้ง
บ่ควรละเผ่าเชื้อหนีไปย้องว่าเพื่อนดี ย้อง – ยกย่อง


5. ภูมิปัญญาการใช้หลักคุณธรรมจริยธรรมทำให้สังคมสงบสุข กวีได้นำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนามาสอดแทรกไว้ในเรื่องราวโดยตลอด โดยเฉพาะศีลห้าข้อห้ามของพุทธศาสนาห้าประการ ซึ่งเป็นข้อห้ามเบื้องต้นที่สามารถควบคุมสังคมให้สงบสุข ซึ่งกวีเห็นความสำคัญของการรับศีลห้าว่าสามารถจะเป็นเครื่องกำหนดให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องใช้กฎหมายเป็นข้อบังคับสังคม ฉะนั้นกวีจะสอดแทรกหลักธรรมของพุทธศาสนาในเรื่องอยู่เนือง ๆ เช่น

ทงศีลสร้างบารมีทุกเช้าค่ำ ทง – ทรง
จำจื่อแจ้งบ่มีล่ายพราง จื่อ – จดจำ, ล่าย – โกหก,
พราง – อำพราง
ไผผู้ทานทอดเนื้อในฮีตกามคุณ
หญิงพาลานอกใจบิดาเลี้ยง
ผิดธรรมแท้ประเพณีคลองร่วม แท้ดาย
อันหนึ่งอย่าได้โลบเลี้ยวบังเกิดโจโร โลบเลี้ยว – คดโกง
ฝูงนี้เป็นโทสาบาปจวนจำใกล้
ผิดศีลแท้ขโมยทองพ่อแม่ พี่เอย
ของนอกเนื้อทานทอดในธรรม
จึงจักเป็นกองบุญชาติสิมาภายหน้า
อันหนึ่งทงศีลหมั่นภาวนาเช้าค่ำ
ก็จักเป็นเหตุให้หอมเกื้อยืดยาว หอม – เก็บ, รักษาเช่นเก็บหอมรอมริบ
ฝูงนี้เป็นบุญกุศลน้าวส่ง ฯลฯ

6. ภูมิปัญญาหารใช้สุนทรีย์ศาสตร์หรือความงามความไพเราะ ที่ให้คุณค่าด้าน
ความงาม ความไพเราะของถ้อยคำใช้คำสัมผัสคล้องจอง ความไพเราะของท่วงทำนองของบทกวี เมื่อฟังหรืออ่านทำให้เกิดจินตนาการ เกิดความซาบซึ้ง ในอารมณ์ความรู้สึก กวีได้พรรณนาฉากไว้อย่างประณีตด้วยสำนวนโวหารโดยเฉพาะการชมดง ชมนกชมไม้ หรือที่ตามภาษาท้องถิ่นว่า “เดินดง” กวีได้แบบอย่างอันเป็นแนวการประพันธ์จากกวีชั้นครูสมัยยุคทองแห่งวรรณกรรม จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้สำนวนโวหารประณีตไปด้วยวรรณศีลป์ ตังอย่าง (ท้าวกาละเกดเดินดง)

ภูวนาถเจ้าเดินผ้ายเผ่นผาย
ศรีศราญน้อยเดินเดียวดั้นเดี่ยว ศรีศราญ – หมายถึงท้าวกาละเกด
ม้าวิ่งข้ามเขากว้างเถื่อนกวาง กวาง(กวง) – ใน,ภายใน เช่น
กวงเฮือน – ในบ้าน
กุมารท้าวทงกระสันอกสั่น ทง – ทรง, ทะรง ก็ว่า

คิดเถิงแม่แจ่มเจ้าหิวไห้ฮ่ำไฮ ฮ่ำไฮ – ร่ำไร
หลิ่งดอกไม้ก้านก่องบุญกอง หลิ่ง – มอง,เหลียวดู ก้านก่อง – งามตะการ
บาก็ยินดีผายล่ำคอยยามคล้อย บา – หนุ่ม,เจ้านาย, ล่ำ – มองดู
ภูมิเข้าดงเลาแสนเหล่า
หลิ่งล่ำไม้ลำเลียนป่าเลียน เลี่ยน – เรียบ,เลื่อนไป,เลียน–แถว,เป็นระเบียบศรีสะอาดท้างทุกข์แห่งโฮยแฮง โฮยแฮง – โรยแรง
ในดงหลวงกว้างกว่าไกลลือใกล้
อาชาไนยข้ามเขาคำยามค่ำ
ภูวนาถเจ้าใจสลั้งรุ่งหลัง สลั้ง – สะดุ้ง, ฉุกคิด
ทุกหง่อนไม้ซ่องซ่อเขียวนิล พุ้นเยอ หง่อน – ยื่นออกมา,ชง่อน ซ่องซ่อ – ชูช่อ, ไสว
ดงหลวงดังมือมุงเป็นมุ้ง มุง,มุ้ง – สดใส,สวยงาม มง,ม้ง ก็ว่า
ดงหลวงชั้นไพรขวงเป็นข่วง ขวง – ขวาง, ข่วง – บริเวณ, รอบ ๆ วง ๆ
หลิ่งล่ำไม้ดงส้านเป็นศาล ส้าน – ไม้ส่าน
ภูชัยท้าวทะยานคอยเดินค่อย
เห็นแต่ดอยใหญ่น้อยเป็นถ้านถี่ถัน ถ้าน – ระดับ, ขั้น ๆ
เห็นดอกไม้ก้านก่องอินทร์กรอง ถัน – เรียงเป็นแถว,ก้านก่อง – งาม
เห็นแต่เครือหวายกระจายเป็นต้าย ต้าย – กำแพง,เพนียด
อาชาไนยผ้ายดงยางเยื้องย่าง
ภูวนาถเจ้าใจหิ้งหอดหิว หิว – เบื่อหน่าย,หอดหิว – กระวนกระวาย
หิวกระหาย
ฟังยินกดปูดฮ้องในเหล่ากอเลา พุ้นเยอ กด,ปูด – ชื่อนก
ทะนีนงคราญฮ่ำไฮทั้งไห้ ทะนี – ชะนี ฮ่ำไฮ – ร่ำไร
เรไรฮ้องในดงเสียงส่ง
ผีป่าฮ้องแลงเช้าหง่ามเหงา แลง – เย็น,หง่ามเหงา – ง่วงเหงา
นกเค้าบินแอ่วเสียงแมว แอ่ว – เที่ยว
แซงแซวบินเรียบเขายามเช้า
ศรีคราญน้อยโศกาใจหว่า หว่า – พะว้าพะวัง หว่างเว ก็ว่า

บทสรุป
หนังสือวรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยปัจจุบัน เป็นแหล่งสะสมความรู้และความบันเทิงของมนุษย์ แหล่งใหญ่ที่สุด ยิ่งอ่านยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งใช้ยิ่งงอกงามไม่มีวันหมดสิ้น แต่ละเรื่องมีคุณประโยชน์ต่อผู้อ่าน ที่รู้จักกำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่านของตน เช่น อ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเพื่อหาความรู้
อ่านเพื่อหาความคิดหรืออ่านเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพ แต่จะเป็นการอ่านเพื่อจุดมุ่งหมายใดก็ตาม จะต้องอ่านอย่างพิจารณาจึงจะเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้ การอ่านอย่างใช้ความคิดตริตรอง ตรวจสอบสิ่งที่อ่านอย่างรอบคอบ มีจุดประสงค์เพื่อประเมินคุณค่าของสิงที่อ่านว่ามีคุณค่าในด้านใด หากผู้อ่านได้วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่อ่านก็จะเกิดความคิดแตกฉาน เข้าใจสิงที่อ่านได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านเป็นคนมีเหตุผล รักความเป็นธรรมมีความรอบคอบ รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักตัดสินใจ รู้จักแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมได้
โดยสรุปแล้ววรรณกรรมท้องถิ่นมีประโยชน์มากมายหลายประการดังต่อไปนี้
1. ให้ความบันเทิงใจแก่ชุมชน เช่น ขับเสภาในภาคกลาง เล่าค่าวหรือขับลำนำภาคเหนือ อ่านหนังสือในบุญเงือนเฮือนดีในภาคอีสาน การสวดหนังสือและสวดด้านของภาคใต้
2. ทำให้เข้าใจในค่านิยม โลกทัศน์ของแต่ละท้องถิ่นโดยผ่านทางวรรณกรรม
3. เข้าใจวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น
4. ก่อให้เกิดความรักถิ่น หวงแหนมาตุภูมิ และรักสามัคคีในท้องถิ่นของตน

บรรณานุกรม

ธวัช ปุณโณทก,วรรณกรรมท้องถิ่น (Reginal Literature), กรุงเทพฯ : พีระพัธนา , 2525

URL : http://www.thai-folksy.com/PSArticle/PS-1-30/a14.html

URL : http://online.benchama.ac.th/social/kanokporn/les_04.html

URL : http://www.school.net.th/library