วันจันทร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551

บทวิเคราะห์ภูมิปัญญาที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรม

บทวิเคราะห์ภูมิปัญญาที่ได้จากการศึกษาวรรณกรรมนิทานอีสานเรื่อง กาละเกด

ที่มาของเรื่อง กาละเกด
เป็นเรื่องปรากฏอยู่ในพระเจ้าห้าสิบชาติ ซึ่งอาจไม่ตรงกับ ปัญญาชาดก ก็ได้ เพราะในความหมายของพระเจ้าห้าสิบชาติของอีสาน จะหมายถึงเรื่องชาดกทั้งหมดต้นฉบับเดิมเป็นอักษรไทยน้อย ท่านเจ้าคุณอริยานุวัตร กล่าวไว้ว่า ได้ต้นฉบับมาจากวัดสว่างอารมณ์ อ.เมือง จ. ร้อยเอ็ด และได้พิมพ์ เผยแพร่เป็นอักษรไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ความยาว ๔๘๐ หน้า จากการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุในท้องถิ่นอีสาน ต่างก็กล่าวว่า เป็นวรรณกรรมที่แพรหลายมากในสมัย 20 - 30 ปีก่อน หมอลำนิยมนำเรื่องกาละเกดมารำอยู่เนือง ๆ

ผู้ประพันธ์ และสมัยการประพันธ์
จากข้อความในเรื่อง ได้บอกชื่อผู้ประพันธ์ว่า “สมเด็จกุ” สมเด็จ น่าจะเป็นตำแหน่งทางสงฆ์มากกว่าพลเรือน นามจริงว่า “กุ” และกล่าวไว้ชัดเจนว่าเป็นกวีเมืองศรีสัตนาครหุต(เวียงจันทร์) และได้กล่าวถึงพระนามของกษัตริย์ว่า “สมเด็จเจ้าเชียงทอง” ซึงเป็นสามานยนามที่นิยมเรียกกษัตริย์ลานช้าง
โดยทั่วไป เมื่อพิจารณาศักราชที่ปรากฏอยู่ว่า “๑๑๐๐” ซึ่งเป็นจุลศักราช ๑๑๐๐ ตรงกับ พ.ศ.๒๒๘๑ เมื่อเทียบเคียงศักราชดูแล้วตรงกับรัชสมัยของพระมหาบุญไชยเชษฐาธิราช (สิริบุญสาร) พ.ศ.๒๒๗๕ ถึง พ.ศ.๒๓๒๓

ฉันทลักษณ์ของโครงเรื่อง
วรรณกรรมนิทานอีสานเรื่องการะเกด ลักษณะการประพันธ์เป็นการประพันธ์แบบโครงสาร ซึ่งบางครั้งจะเรียกว่ากลอนลำ ซึ่งเป็นคำโคลงโบราณ นิยมประพันธ์วรรณกรรมที่ใช้อ่านโดยทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมนิทาน หรือวรรณกรรมพุทธศาสนา หรือวรรณกรรมอื่น ๆ ที่ใช้อ่านในงานศพ ที่เรียกว่า “งันเฮือนดี” ( สมโภชเรือนมงคล – เรียกให้เป็นมงคลนาม) โดยเจ้าภาพจะหาหมออ่านมาขับลำหนังสือให้
ผู้ที่มาชุมนุมร่วมบุญกุศล ประหนึ่งมหรสพ


เนื้อเรื่อง โดยสรุป
ท้าวสุริวงศ์เกสนุราชครองเมืองพาราณสี มีมเหสีนามว่านางกาละ โอรสทรงพระนามว่า ท้างกาละเกด (พระโพธิสัตว์มาเกิดเพื่อใช้ชาติ) เมื่อเจริญวัยได้ม้ามณีกาบซึ่งมีพลานุภาพมาก
สามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ ท้าวกาละเกดได้ทรงม้ามณีกาบประพาสป่า ม้ามณีกาบพาท้าวกาละเกดมาถึงเมืองท้าวผีมนต์ (ยักษ์) ซึ่งมีมเหสีชื่อ นางมาลีทอง ธิดาชื่อนางมาลีจันทร์ ซึ่งพระอินทร์ส่งมาเกิด
เป็นเนื้อคู่ของท้าวกาละเกด ท้างกาละเกดพบนางในสวนหลวงก็หลงรัก จึงกำบังกายด้วยเวทย์มนต์
ตามนางมาในปราสาท แล้วปรากฏให้นางเห็นกาย ท้าวกาละเกดได้กำบังกายเข้ามาหานางในปราสาททุกวันพวกนางสนมแอบดูพบว่าพระธิดามีชายหนุ่มเข้ามาหาที่ห้องบรรทมทุกคืน จึงนำความมากราบทูลท้าวผีมนต์ ๆ กริ้ว จึงสั่งให้ผูกยนต์ (อาวุธที่เป็นกลไก) ไว้ที่ประตู ท้างกาละเกดเสด็จมาหานางมาลีจันทร์จึง
ถูกยนต์ตายพร้อมกับม้ามณีกาบ ก่อนสิ้นใจท้าวกาละเกดร้องขอให้นางมาลีจันทร์นำศพพระองค์และม้า
มณีกาบไปลอยแพ ท้าวสุบรรณเจ้าเมืองครุฑบินมาพบศพลอยแพ รู้ว่าเป็นศพผู้มีบุญญาธิการ จึงคาบศพทั้งสองไปยังอาศรมฤๅษี ร้อนถึงพระอินทร์ๆ จึงเสด็จลงมาบอกมนต์ฤๅษีชุบชีวิตท้าวกาละเกดพร้อมทั้งมอบศร พระขรรค์ ให้ด้วย ครุฑชวนไปอยู่เมืองด้วย แต่ท้าวกาละเกดยังคิดถึงนางมาลีจันทร์อยู่จึงขี่ม้ามณีกาบไปหานาง แล้วเล่าเรื่องให้นางฟัง ท้างกาละเกดเนรมิตตัวเองเป็นมาลัยประดับเกศานางมาลีจันทร์ อยู่ด้วยกันเป็นสุขมาเป็นเวลานาน ท้าวกาละเกดยังแค้นใจท้าวผีมนต์ที่คิดประทุษร้าย จึงปรากฏตัวรบกับยักษ์ผีมนต์ฆ่ายักษ์ตายหมด ภายหลังท้าวกาละเกดแผลงศรชุบชีวิตยักษ์ฟื้นทั้งหมด ท้างผีมนต์เกรงกลัวมากจึงยกเมืองให้ครอง แต่ท้าวกาละเกดขอพานางมาลีจันทร์กลับเมืองพาราณสีก่อน
ทั้งสามเดินทางรอนแรมมา ได้ฆ่ายักษ์พาลทั้งหลายแล้วชุบชีวิตฟื้นคืนมา แล้วสอนให้อยู่ในศีลกินในทานประพฤติตนอยู่ในคลองธรรม ครั้นถึงป่าแห่งหนึ่งกินรีสามพี่น้องลักพาท้าวกาละเกดไปเป็นสามี ม้ามณีกาบให้นางมาลีจันทร์คอยอยู่ตนจะติดตามหาท้าวกาละเกดๆ หลงเสน่ห์นางกินรีสามพี่น้องเพราะกรรมมาบัง เนื่องจากผลเวรชาติปางก่อนจึงพลัดพรากจากกันถึง ๒ ปี ท้าวกาละเกดจึงคิดถึงนางมาลีจันทร์ ส่วนม้ามณีกาบหลงทางปล่อยให้นางมาลีจันทร์อยู่คนเดียว ร้อนถึงอิศูรย์ ๆ จึงมารับนางไปอยู่ด้วยในเมืองให้นางคอยสามี
ม้ามณีกาบหลงทางไปอาศัยอยู่กับฤาษี นางกินรีสามพี่น้องเป็นธิดาฤๅษี วันหนึ่งนางมาหาพ่อและเล่าเรื่องท้าวกาละเกดให้ฤๅษีฟัง ม้ามณีกาบทราบเรื่องจึงออกติดตามท้างกาละเกด เมื่อพบกันแล้วจึงออกติดตามนางมณีจันทร์ต่อไปจนถึงเมืองอิศูนย์ เสนาท้าวอิศูนย์บอกว่านางคอยอยู่ในเมือง ท้าวกาละเกดเข้าไปพบนางในเมือง ทั้งสามจึงพากันกลับเมืองพาราณสี ตามทางรบกับยักษ์โขโน ๆ บอกไปยังเพื่อนยักษ์พานสวงให้ยกทัพมาช่วย ท้าวกาละเกดฆ่าตายหมด แล้วแผลงศรพระขรรค์ชุบชีวิตทั้งหมด ยักษ์รู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์จึงยอมอ่อนน้อม ท้าวกาละเกดสอนธรรมมะให้อยู่ในศีลในธรรม
ทั้งสามเดินทางมาถึงเมืองกุมพล (ยักษ์) ท้างกุมพลสะกดมนต์ลักพานางมาลีจันทร์ไป ท้าวกาละเกดตามไปทันรบกันด้วยอิทธิฤทธิ์ ท้างกุมพลสู้ไม่ได้บอกเพื่อนชื่อท้าวอีศวร(ยักษ์) มาช่วยรบ ไพร่พลตายเกือบหมด บอกเท้าสุบรรณเมืองครุฑมาช่วยรบ ท้าวสุบรรณแจ้งให้ทราบว่าท้าวกาละเกดคือ
พระโพธิสัตว์พวกยักษ์จึงยอมอ่อนน้อม ท้าวกาละเกดจึงชุบชีวิตสมุนยักษ์ทั้งหมด แล้วสอนศีลธรรมคืนเมืองให้ปกครอง ท้างกุมพลสร้างพลับพลาให้ท้างกาละเกดแล้วป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ มาอ่อนน้อม ท้าวกาละเกดสั่งสอนหลักธรรมเจ้าเมืองทั้งหลายให้อยู่ในราชธรรม และฮีตบ้านคองเมือง
ท้าวกุมพลยกธิดาชื่อกากีเป็นชายาแก่ท้าวกาละเกดด้วย ในที่สุดท้าวกาละเกดเข้าเมืองพาราณสี โดยมีกองทัพยักษ์บริวารทั้งหลาย รวมทั้งครุฑ นาค ทั่วจักรวาล ยกทัพเป็นขบวนตามเสด็จ ท้าวเกสนุราชมอบเมืองพาราณสีให้ท้าวกาละเกดครอง บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุขทั่วจักวาล อันรวมอมรโคยานทวีป
อุตรกุรุทวีปและบุรพวิเทห์ทวีปด้วย

บทวิเคราะห์

จากที่ได้ศึกษาวรรณกรรมนิทานอีสานเรื่อง กาละเกด สามารถวิเคราะห์คุณค่าและภูมิปัญญาที่ได้จากวรรณกรรม ได้ดังนี้

1. ภูมิปัญญาด้านการหลักธรรมในการการปกครอง กวีพยายามสรุปว่าธรรมครองโลกจะมีสันติสุขที่ถาวร กวีเน้นราชธรรมสิบประการของเจ้าเมือง สร้างให้สังคมเห็นภาพพจน์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลแห่งธรรมครองโลก โลกจะสันติสุขอย่างแท้จริง กวีได้นำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนา
มาสอดแทรกไว้ในเรื่องราวโดยตลอด ซึ่งเป็นเครื่องกำหนดให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องใช้กฎหมายเป็นข้อบังคับสังคม ดังนี้

บันแต่บรมท้าวพระยาหลวงกาละเกด คำอธิบายศัพท์
เสวยอยู่สร้างเมืองกว้างชอบธรรม
อยู่สนุกล้นโยธาพลไพร่
ก็บ่ทุกข์ยากไร้สังแท้สำราญ สัง – ไฉน, สิ่งไร, อะไร
คันว่า สาลีข้าวในนามูลมาก
คนบ่ได้ปลูกสร้างสังแท้เกิดมี
กัลพฤก์ลุนลัวะหลากเต็มดอน ลุนลัวะหลาก - หลั่งไหลพรั่งพรู
เป็นกลอกเกิดมาเหลือล้น
แหมองซ้อนดางหวิงนามน่าง แห, มอง, ซ้อน, ดาง, หวิง
กะต่ะห้างโทนแร้วบ่ห่อนมีเจ้าเอย นาม, น่าง – เป็นเครื่องจับปลา
อันว่าโยธาท้าวเสนาน้อยใหญ่ กะต่ะ,ห้าง,โทน, แร้ว – ทุกชื่อ
ก็บ่บังเบียดฆ่าคณาเนื้อมอกชีวัง เป็นเครื่องดักสัตว์
มีท่อจำศีลสร้างภาวนาเช้าค่ำ
สัตว์สิงห์เค้าคณาเนื้อพึ่งบุญ
ฝูงเขาฆ่าศัตรูกันเว้นห่าง
วางคาดเว้นใจมั่นต่อศีล
แมวหนูไว้ปฏิญญาณเป็นเสี่ยวกันแล้ว เสี่ยว – เพื่อน้ำสาบาน
นกเค้าเว้นสหายเพียงร่วมกา
งูว่างเว้นคำชังรักเขียด คำ ความ,คำชัง – ความเกลียดชัง
ช้างใหญ่น้อยเป็นเสี่ยวราชสีห์
ไมตรีรักเพื่อนบุญบาท้าว บา – หนุ่ม, ใช้เรียกชื่อเจ้านาย
ขงพะลานกว้างคนพลอยทุกข์มอด ขง – เขต, ขอบเขต
ยูท่างชมแต่ชู้มิร้อนร่วมใด ยูท่าง – สะดวกสบาย
ใจยินดีตั้งดอมผัวสนิทเชื้อ ดอม – ด้วย, อยู่ด้วย
ก็บ่คิดโลภเลี้ยวมีชู้จากผัว
เพราะเพื่อบุญบาท้าวเทศนาสอนสั่ง
ศีลห้าแปดตั้งคาเนื้อคุคน คุ – ทุก,ซุ, สุ ก็ว่า

2. ภูมิปัญญาด้านการใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน กวีได้บรรยายสภาพชีวิตของชาวบ้าน วรรณกรรมอีสานเรื่องกาละเกด กวีไม่ได้ละเลยที่จะเน้นความสำคัญของชาวบ้าน ไพร่ฟ้า ประชาชน ในการร่วมพิธีกรรมของบ้านเมืองอยู่เนื่องๆ ส่อให้เห็นว่าชาวบ้านในสังคมอีสานโบราณนั้นมีส่วนในการร่วมกิจกรรมของบ้านเมือง ช่องว่างระหว่างชนชั้นเกือบจะไม่ปรากฏ จากการที่กวีได้กล่าวถึง
สภาพชีวิตของชาวบ้าน ค่านิยมของสังคมอีสานโบราณ มหรสพที่เล่นกันสมัยนั้น เช่น โขน ระเม็ง กายกรรม การหยอกเย้าเล่นหัวระหว่างหนุ่มสาวเป็นสภาพจริงของชีวิตไทยในชนบท

เครงเครงก้องกงบนฟ้าเกลื่อน คำอธิบายศัพท์
เสียงเสพเจ้าออนอิ่งกล่อมกลม
สาวงามเลื่อมคันยูคับคั่ง คันยู – ร่ม, กางร่ม
ขับแขกฟ้อนโคลงฟ้าอ่านสาร
ทมทมก้องเมามั่วมวนมี่ มวนมี่ – เสียงดัง
โชคส่ำร้างฝุงหม้ายหมู่โถง โถง – นักเลง
สัพเพพร้อมปนสาวสมบ่าว
คึดฮอดลูกเจ้าลุ่มฟ้าแพงข้างล่วงไป คิดฮอด – คิดถึง
หญิงชายรู้เรียงกลกานท์ย่อย ถุ่ง – มุ่งหน้าไป
บางพ่องเหลียวงวกหน้าจาชู้ดุ่งเดิน พ่อง – พวก,เหล่า งวก – หัน,
อ้ายนี้มักหม่อมน้องเป็นยิ่งอจินไตย น้องเอย เหลียวมอง จา – พูด,มักใช้ว่าจาต้าน
คือดั่งเดือนดาวใสบ่อาจบายเอาได้ บาย – จับ, ลูบคลำ
คือดังอาชาไนยม้าเดินทางหิวหอด
มาผ้อน้ำในส้างเบิ่งดายนั้นแล้ว ผ้อ(ผ่อ) – พบ,เห็น ส้าง – บ่อน้ำ
สาวจาต้านดอมชายไยหยอก เบิ่งดาย – ดูเฉย ๆ
น้องนี้ เพียงดังมาลาสร้อยบานเรืองในป่า จาต้าน – พูดจา,เจรจา
กลิ่นบ่หอมลุดล้มดมแล้วก็เล่าวาง นั้นแล้ว ดอบ - ด้วย,อยู่ด้วย
แม่นถึงภุมรินทร์กลั้วดวงหอมเอากลิ่น
ดอกไม้บ่หอมร่วงเร้าเห็นแล้วก้เล่ากราย
แต่นั้น ไทระเม็งหลิ้นโขนหนังเต้นไต่ หลิ้น – เล่น
กวัดแกร่งฟ้อนลาค้างหอกทวน
หัวโขนฟ้อนตึงตางลึกลาก
ถือแบกค้อนตะบองเต้นดั่งสิตี สิ – จะ ซิก็ว่า
พวกหนึ่งตนโตแต้มลายเสือออกเหล่า
ตาเหลือกม้านทวนไค้ดั่งสิแทง
สาวรามร้องหัวนันซีสว่า วีสว่า – เสียงดัง
บางพ่องเมาเหล้าล้มกุมกลั้วกอดสาว
ท่าวเซซายไปมากลิ้งเกลือก ท่าว – ล้มลง
จับแจงผ้าสาวร้องบีบนม แจง – แก้,ถอดผ้า,แจ่ง ก็ว่า
ซมเซล้มเมามัวอยู่ม่วน ม่วน – สนุกสนาน
บางพ่องใส่สวกหลิ้นสาวน้อยหยอกไย สวก – พูดแทะโลม,พูดใส่, ไย-เย้า หยอกเอิน
แซวแซวเว้าตามทางยูท่าง ยูท่าง – สะดวก, สนุก
กะสิงม่ายฟ้อนระเม็งเต้นไต่หนัง กะสิง – นางละคร
ราชาเจ้าทวนพลเดินดุ่ง

3. ภูมิปัญญาการใช้สุภาษิตคำสอนสอดแทรกในบทกวี ซึ่งกวีได้สอดแทรกคำภาษิต สุภาษิตไว้ในเรื่องโดยตลอด คำภาษิตเหล่านี้กวีคงนำมาจากคำผญาภาษิตต่างๆ ของท้องถิ่นนั่นเอง โดยมาปรับปรุงให้สอดคล้องเข้ากับลำดับขั้นตอนของเนื้อเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น
3.1 ตอนเท้ากาละเกดพบนางมาลีจันทร์ได้กล่าวเกี้ยวพาราสีว่า “ พี่รักน้องแต่น้องไม่ปราณีพี่” ก็เหมือนกับเอาไซมาดักปลาใต้น้ำ มันไม่มีโชค ไม่ฉลวย ถูกปลาหรือไม่ถูกปลาก็ตามแต่ ดังนี้
อ้ายนี้เป็นดังไวใส่ใต้หลังบ่หมาน
ถืกก็ใส่ไว้บ่ถืกก็ใส่ตามช่างกะเยิมปลา
3.2 นางมาลีจันทร์ได้กล่าวตอบว่า เมื่อได้นางแล้วจะลืมเหมือนกับปลาเน่าค้างบนดิน
คอยฝน คอยท่าจอมกษัตริย์เหมือนดังฝนแก้วที่จะตกลงมา (เพื่อช่วยชีวิตปลา) ดังนี้

อย่าได้ไลลาน้องวางเสียร้างเปล่า ไลลา – ลืม.ไลก็ว่า
เป็นดั่งปลาเน่าค้างดินแห้งง่องฝน นี้แล้ว ง่อง – คอย,งองก็ว่า
อันว่า จอมกษัตริย์บุญครามมาโผดน้องนี้ โผด – โปรด
เหมือนดั่งฝนห่าแก้วระงมกลุ้มหลั่งลง แลเด


3.3 คำภาษิตเปรียบเทียบความรักว่า ถ้าบุญไม่ต้องกันแล้วจะทำฉันใดก็ต้องแคล้วกัน คือตอนที่ท้าวกุมพลลักพานางมาลีจันทร์ไป แต่ก็ไม่เห็นนางทั้ง ๆ ที่นางอยู่บนรถนั่นเอง ซึ่งกวีได้ยกเอา
คำภาษิตที่เชื่อว่า การมีคู่ครองกัน นั้นย่อมต้องแล้วแต่บุญที่เคยร่วมสร้างกันไว้แต่ชาติปางก่อน ถึงแม้จะฝืนดวงชะตาย่อมเป็นไปไม่ได้เหมือนกับจะทำฝายกั้นแม่น้ำก็หากหักพัง โชคไม่อำนวยทอดแหเท่าไรก็ไม่ได้ปลา นาขาดน้ำจะทำเหมืองเอาน้ำใส่ แต่น้ำไม่ไหลเหมือนกับเอาน้ำขึ้นโพน

บุญบ่ดอมกันสร้างแสนสิปองก็ยินยาก ดอม – ด้วย, สิ – จะ
แสนสิปั้นแม่น้ำฝายต้อนหากขาดกลาง
ปลาบ่หมานแสนสิเอาแหหว่าน หมาน – ฉมวย, มีโชค,เฮง
ข้องโป้ร้องร่ำไห้หาต้อนต่งปลา ต่ง – รับ,คอยรับ
นาเขินน้ำจักแปงเหมืองเข้าใส่ แปง – สร้าง,ทำ
น้ำบ่ไหลท่อก้อยคือเอาขึ้นโพน
คือใจบ่ใสต่อแก้วแยงเงาก็บ่ส่อง แยง – มองดู
ใจบ่ใสต่อฆ้องตีได้ก็บ่ดัง นั้นแล้ว

4. ภูมิปัญญาการใช้คำสอนให้กตัญญูกตเวที มีความผูกพันระหว่างเครือญาติ กวีเน้นความผูกพันระหว่างพ่อแม่-ลูก และพยายามสอนให้ลูกระลึกถึงคุณบิดามารดาอยู่เสมอ เช่นที่
นางมาลีจันทร์ ขอติดตามท้าวกาละเกดไปด้วย ท้าวกาละเกดได้กล่าวถึงภาษิตโบราณให้นางได้คิดว่า

โอ้นอ น้องเอย
เจ้าอย่าไลวางไว้สองเผือพ่อแม่ ไล – ลืม,หลง, เผือ – เรา
บ่ควรปะไปล่ไว้เมืองบ้านสิหม่นหมอง ปะ – ละเลย, อย่า,ร่าง
บ่ควรไลวางถิ้มพงศ์พันธ์พี่น้องเก่า ถิ้ม – ทิ้ง
บ่ควรละเผ่าเชื้อหนีไปย้องว่าเพื่อนดี ย้อง – ยกย่อง


5. ภูมิปัญญาการใช้หลักคุณธรรมจริยธรรมทำให้สังคมสงบสุข กวีได้นำเอาหลักธรรมของพุทธศาสนามาสอดแทรกไว้ในเรื่องราวโดยตลอด โดยเฉพาะศีลห้าข้อห้ามของพุทธศาสนาห้าประการ ซึ่งเป็นข้อห้ามเบื้องต้นที่สามารถควบคุมสังคมให้สงบสุข ซึ่งกวีเห็นความสำคัญของการรับศีลห้าว่าสามารถจะเป็นเครื่องกำหนดให้สังคมอยู่ได้อย่างปกติสุข โดยไม่ต้องใช้กฎหมายเป็นข้อบังคับสังคม ฉะนั้นกวีจะสอดแทรกหลักธรรมของพุทธศาสนาในเรื่องอยู่เนือง ๆ เช่น

ทงศีลสร้างบารมีทุกเช้าค่ำ ทง – ทรง
จำจื่อแจ้งบ่มีล่ายพราง จื่อ – จดจำ, ล่าย – โกหก,
พราง – อำพราง
ไผผู้ทานทอดเนื้อในฮีตกามคุณ
หญิงพาลานอกใจบิดาเลี้ยง
ผิดธรรมแท้ประเพณีคลองร่วม แท้ดาย
อันหนึ่งอย่าได้โลบเลี้ยวบังเกิดโจโร โลบเลี้ยว – คดโกง
ฝูงนี้เป็นโทสาบาปจวนจำใกล้
ผิดศีลแท้ขโมยทองพ่อแม่ พี่เอย
ของนอกเนื้อทานทอดในธรรม
จึงจักเป็นกองบุญชาติสิมาภายหน้า
อันหนึ่งทงศีลหมั่นภาวนาเช้าค่ำ
ก็จักเป็นเหตุให้หอมเกื้อยืดยาว หอม – เก็บ, รักษาเช่นเก็บหอมรอมริบ
ฝูงนี้เป็นบุญกุศลน้าวส่ง ฯลฯ

6. ภูมิปัญญาหารใช้สุนทรีย์ศาสตร์หรือความงามความไพเราะ ที่ให้คุณค่าด้าน
ความงาม ความไพเราะของถ้อยคำใช้คำสัมผัสคล้องจอง ความไพเราะของท่วงทำนองของบทกวี เมื่อฟังหรืออ่านทำให้เกิดจินตนาการ เกิดความซาบซึ้ง ในอารมณ์ความรู้สึก กวีได้พรรณนาฉากไว้อย่างประณีตด้วยสำนวนโวหารโดยเฉพาะการชมดง ชมนกชมไม้ หรือที่ตามภาษาท้องถิ่นว่า “เดินดง” กวีได้แบบอย่างอันเป็นแนวการประพันธ์จากกวีชั้นครูสมัยยุคทองแห่งวรรณกรรม จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้สำนวนโวหารประณีตไปด้วยวรรณศีลป์ ตังอย่าง (ท้าวกาละเกดเดินดง)

ภูวนาถเจ้าเดินผ้ายเผ่นผาย
ศรีศราญน้อยเดินเดียวดั้นเดี่ยว ศรีศราญ – หมายถึงท้าวกาละเกด
ม้าวิ่งข้ามเขากว้างเถื่อนกวาง กวาง(กวง) – ใน,ภายใน เช่น
กวงเฮือน – ในบ้าน
กุมารท้าวทงกระสันอกสั่น ทง – ทรง, ทะรง ก็ว่า

คิดเถิงแม่แจ่มเจ้าหิวไห้ฮ่ำไฮ ฮ่ำไฮ – ร่ำไร
หลิ่งดอกไม้ก้านก่องบุญกอง หลิ่ง – มอง,เหลียวดู ก้านก่อง – งามตะการ
บาก็ยินดีผายล่ำคอยยามคล้อย บา – หนุ่ม,เจ้านาย, ล่ำ – มองดู
ภูมิเข้าดงเลาแสนเหล่า
หลิ่งล่ำไม้ลำเลียนป่าเลียน เลี่ยน – เรียบ,เลื่อนไป,เลียน–แถว,เป็นระเบียบศรีสะอาดท้างทุกข์แห่งโฮยแฮง โฮยแฮง – โรยแรง
ในดงหลวงกว้างกว่าไกลลือใกล้
อาชาไนยข้ามเขาคำยามค่ำ
ภูวนาถเจ้าใจสลั้งรุ่งหลัง สลั้ง – สะดุ้ง, ฉุกคิด
ทุกหง่อนไม้ซ่องซ่อเขียวนิล พุ้นเยอ หง่อน – ยื่นออกมา,ชง่อน ซ่องซ่อ – ชูช่อ, ไสว
ดงหลวงดังมือมุงเป็นมุ้ง มุง,มุ้ง – สดใส,สวยงาม มง,ม้ง ก็ว่า
ดงหลวงชั้นไพรขวงเป็นข่วง ขวง – ขวาง, ข่วง – บริเวณ, รอบ ๆ วง ๆ
หลิ่งล่ำไม้ดงส้านเป็นศาล ส้าน – ไม้ส่าน
ภูชัยท้าวทะยานคอยเดินค่อย
เห็นแต่ดอยใหญ่น้อยเป็นถ้านถี่ถัน ถ้าน – ระดับ, ขั้น ๆ
เห็นดอกไม้ก้านก่องอินทร์กรอง ถัน – เรียงเป็นแถว,ก้านก่อง – งาม
เห็นแต่เครือหวายกระจายเป็นต้าย ต้าย – กำแพง,เพนียด
อาชาไนยผ้ายดงยางเยื้องย่าง
ภูวนาถเจ้าใจหิ้งหอดหิว หิว – เบื่อหน่าย,หอดหิว – กระวนกระวาย
หิวกระหาย
ฟังยินกดปูดฮ้องในเหล่ากอเลา พุ้นเยอ กด,ปูด – ชื่อนก
ทะนีนงคราญฮ่ำไฮทั้งไห้ ทะนี – ชะนี ฮ่ำไฮ – ร่ำไร
เรไรฮ้องในดงเสียงส่ง
ผีป่าฮ้องแลงเช้าหง่ามเหงา แลง – เย็น,หง่ามเหงา – ง่วงเหงา
นกเค้าบินแอ่วเสียงแมว แอ่ว – เที่ยว
แซงแซวบินเรียบเขายามเช้า
ศรีคราญน้อยโศกาใจหว่า หว่า – พะว้าพะวัง หว่างเว ก็ว่า

บทสรุป
หนังสือวรรณคดีหรือวรรณกรรมไทยปัจจุบัน เป็นแหล่งสะสมความรู้และความบันเทิงของมนุษย์ แหล่งใหญ่ที่สุด ยิ่งอ่านยิ่งเพิ่มพูน ยิ่งใช้ยิ่งงอกงามไม่มีวันหมดสิ้น แต่ละเรื่องมีคุณประโยชน์ต่อผู้อ่าน ที่รู้จักกำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่านของตน เช่น อ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเพื่อหาความรู้
อ่านเพื่อหาความคิดหรืออ่านเพื่อปรับปรุงบุคลิกภาพ แต่จะเป็นการอ่านเพื่อจุดมุ่งหมายใดก็ตาม จะต้องอ่านอย่างพิจารณาจึงจะเกิดประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้ การอ่านอย่างใช้ความคิดตริตรอง ตรวจสอบสิ่งที่อ่านอย่างรอบคอบ มีจุดประสงค์เพื่อประเมินคุณค่าของสิงที่อ่านว่ามีคุณค่าในด้านใด หากผู้อ่านได้วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องที่อ่านก็จะเกิดความคิดแตกฉาน เข้าใจสิงที่อ่านได้อย่างลึกซึ้ง นอกจากนี้ยังทำให้ผู้อ่านเป็นคนมีเหตุผล รักความเป็นธรรมมีความรอบคอบ รู้จักยับยั้งชั่งใจ รู้จักตัดสินใจ รู้จักแก้ปัญหาด้วยวิธีการที่เหมาะสมได้
โดยสรุปแล้ววรรณกรรมท้องถิ่นมีประโยชน์มากมายหลายประการดังต่อไปนี้
1. ให้ความบันเทิงใจแก่ชุมชน เช่น ขับเสภาในภาคกลาง เล่าค่าวหรือขับลำนำภาคเหนือ อ่านหนังสือในบุญเงือนเฮือนดีในภาคอีสาน การสวดหนังสือและสวดด้านของภาคใต้
2. ทำให้เข้าใจในค่านิยม โลกทัศน์ของแต่ละท้องถิ่นโดยผ่านทางวรรณกรรม
3. เข้าใจวัฒนธรรมของชาวบ้านในท้องถิ่นนั้น
4. ก่อให้เกิดความรักถิ่น หวงแหนมาตุภูมิ และรักสามัคคีในท้องถิ่นของตน

บรรณานุกรม

ธวัช ปุณโณทก,วรรณกรรมท้องถิ่น (Reginal Literature), กรุงเทพฯ : พีระพัธนา , 2525

URL : http://www.thai-folksy.com/PSArticle/PS-1-30/a14.html

URL : http://online.benchama.ac.th/social/kanokporn/les_04.html

URL : http://www.school.net.th/library

ไม่มีความคิดเห็น: