วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551

รายงานการศึกษา และวิเคราะห์ภูมิปัญญาของไทยเรื่อง การทำหมอนขิด

คำนำ

รายงานฉบับนี้ จัดทำขึ้น หลังจากที่ได้ศึกษาค้นคว้า การทำหมอนขิด ซึ่งเป็นภูมิปัญญา ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิตของชาวนาในชนบทโดยเฉพาะชาวอีสานสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษและเป็นผลผลิตที่มีความผูกพันและมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวบ้านมาแต่โบราณ มีรูปแบบและลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน โดยผู้จัดทำได้ทำการวิเคราะห์ องค์ความรู้ คุณค่าของภูมิปัญญาไทย และได้ศึกษากระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้านตามวิถีชีวิตชุมชน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ในสังคมปัจจุบัน



นาวี แสงฤทธิ์
กันยายน 2551












บทที่ 1
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการทำหมอนขิด
ความเป็นมาของการทำหมอนขิด
การทอผ้าซึ่งเป็นงานหัตถกรรมที่สำคัญของชาวอีสานที่มีความผูกพันกับคติความเชื่อของชาวอีสานมาช้านาน ดังจะเห็นได้จาก “ผ้าขิด” ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำหมอนขิด เป็นผ้าที่มีชื่อเป็นที่รู้จักกันดีของคนทั่วไป ผ้าขิดเป็นผ้าที่ต้องใช้ฝีมือและความสามารถในการทอสูงกว่าผ้าชนิดอื่น ช่างอีสานถือว่าผ้าขิดเป็นของสูง จึงมักจะทอใช้ในโอกาสที่เป็นมงคลหรืองานพิธี
หมอนขิด เป็นภูมิปัญญาสั่งสม ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเป็นการรักษาวัฒนธรรมทางหัตถกรรมของภาคอีสานไว้ได้อย่างดีเยี่ยมและยังได้นำมาประยุกต์เข้ากับศิลปะปัจจุบันตลอดจนประโยชน์ใช้สอยได้อย่างกลมกลืนตามสมัยนิยม ชาวอีสานในอดีตประกอบอาชีพหลักทางการเกษตร มีการปลูกข้าวเพื่อยังชีพ เลี้ยงสัตว์เป็นอาหาร ถ้าว่างจากการทำไร่ ทำนา ผู้ชายจะสานตะกร้า บุ้งกี๋ กระบุง ฯลฯ ไว้ใช้ในครัวเรือน หรือเอาไว้ใช้ในฤดูกาลทำนา ทำไร่ในปีต่อไป ส่วนผู้หญิงก็จะเย็บปักถักร้อย มีการปลูกฝ้ายเก็บดอกฝ้ายมาปั่นทำผ้าห่ม ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม นำมาทอเป็นผืนผ้าไหมเพื่อได้นุ่งห่ม มีทั้งทอผ้าพื้นสำหรับตัดเสื้อผ้า หรือทำที่นอน ทอผ้าขาวม้า ทอผ้าลายมัดหมี่ และทอผ้าลายขิด สำหรับผ้าลายขิดจะใช้ทำหมอน ซึ่งการทำหมอนขิด เกิดขึ้นมาพร้อมกับวิถีชีวิตของชาวนาชนบท โดยเฉพาะชาวอิสานซึ่งเป็นวิถีชีวิตและภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ โดยเฉพาะศิลปะในการทอผ้าเพื่อใช้สอยในครัวเรือน ทั้งเสื้อผ้าและเครื่องใช้ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผู้หญิงส่วนใหญ่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่ การทอผ้าลายขิด เป็นศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ “ขิด” เป็นภาษาพื้นบ้านของภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาจากคำว่า สะกิด หมายถึงงัดช้อนขึ้นหรือสะกิดขึ้น สันนิษฐานว่ามาจาก ภาษาบาลีคำว่า ขจิด แปลว่า ทำให้งดงาม ในสมัยโบราณผ้าขิดเป็นผ้าที่มีคุณค่าสูง ใช้ห่อพระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาใน
พุทธศาสนา ต่อมา ชาวบ้านได้นำผ้าขิด มาทำเป็นหมอนสามเหลี่ยม ซึ่งเดิมเรียกว่าหมอนหน้าม้า ตามลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายหน้าม้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าใช้สำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ หรือมอบแด่เจ้าเมืองที่เคารพนับถือ ซึ่งการทอผ้าลายขิดและการทำหมอนขิดได้ถ่ายทอดให้ลูกหลานจนถึงปัจจุบัน

การทำหมอนขิดในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน หมอนขิดใช้ถวายพระในงานประเพณีสำคัญทางศาสนา เช่น งานกฐิน งานผ้าป่า งานสงกรานต์ และงานบวชนาค ใช้ในงานมงคล งานแต่งงาน หรือใช้เป็นของขวัญของฝากสำหรับแขกผู้มาเยือน การทำหมอนในระยะแรก จะทำหมอนสี่เหลี่ยมหกลูก และหมอนสี่เหลี่ยมเก้าลูก เพื่อใช้เป็นเครื่องนอนภายในครอบครัว ใช้ทำบุญในงานประเพณีของท้องถิ่นหรือที่วัด หมอนขวานหรือหมอนสามเหลี่ยม ในสมัยโบราณจะทำเป็นลายขิดขอ ต่อมาทำขิดลายช้าง ผีเสื้อ
ม้า นก เป็นต้น โดยการคิดค้นเอง และการยัดหมอนในสมัยโบราณใช้นุ่นหมดทั้งลูก ต่อมาผู้ซื้ออยากได้ลูกแข็งเพราะหนุนแล้วจะไม่ยุบง่าย ทำให้หันมาใช้ไส้ยัดกลาง ระยะแรกใช้กาบกล้วยแต่มีปัญหา เพราะไม่แห้งเกิดหนอนไชออกจากตัวหมอน จึงเปลี่ยนเป็นใช้ตอซังข้าวมัดเป็นท่อนยัดแทนทำให้การทรงตัวดีขึ้นสวยงาม แต่ถ้าส่งต่างประเทศจะใช้นุ่นทั้งหมด ไม่มีไส้เพราะป้องกันกัญชายัดไส้หมอน ยากต่อการส่งออก นุ่นที่ใช้จะมีทั้งเก่าและ ใหม่ ปกติจะใช้นุ่นเก่า ส่วนนุ่นใหม่ต้องสั่งพิเศษจึงจะมีผู้ทำให้
การเย็บหมอน จะมีการตั้งกลุ่มแม่บ้านเพื่อสอนในระยะแรก ๆ ต่อมาก็หัดเลียนแบบจากพ่อแม่ เพื่อนบ้านใกล้เคียงและบอกต่อ ๆ กัน โดยไม่มีการปิดบัง การเย็บใช้จักรเย็บไส้และตัวหมอน ส่วนหุ้มหน้า-หลัง ต้องสอยด้วยมือ ผ้าที่ใช้จะเป็นขิดฝ้าย และผ้าโสร่งแทนผ้าขิดด้วย ส่วนรูปแบบจะมีหลายแบบ เช่น หมอนสามเหลี่ยม หมอนติดเบาะ หมอนผ้าดีไซด์ ที่นอนระนาด
เบาะนั่ง หมอนขวาน หมอนข้าง หมอนเล็ก
หมอนลูกฟักทอง (สะม๊อก) ซึ่งหมอนขนาดเล็ก ใช้หนุนและทำพวงกุญแจ


กระบวนการผลิต
การพัฒนากระบวนการผลิตจากอดีตถึงปัจจุบัน ในอดีต การผลิตหมอนขิดจะใช้แรงงานทั้งหมดทุกขั้นตอน แต่ปัจจุบันได้ใช้เครื่องมือช่วยในบางขั้นตอนซึ่งมีขั้นตอนตั้งแต่เริ่มแรก ดังนี้
1. การปลูกฝ้าย และการผลิตเส้นใยฝ้าย ฝ้าย เป็นพืชเศรษฐกิจ เจริญเติบโตในบริเวณพื้นที่ที่มีอากาศร้อนลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย อากาศโปร่ง ไม่ชอบที่ร่มเงาบัง เส้นใยของฝ้ายจะดูดความชื้นได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับทอเป็นเครื่องนุ่งห่มในเมืองร้อน เพราะเมื่อฝ้ายดูดความชื้นแล้ว ความชื้นจะระเหยกลายเป็นไอ ผู้ที่สวมเสื้อผ้าด้วยผ้าฝ้ายจะรู้สึกเย็นสบาย ฝ้ายจะนิยมปลูกในเดือนพฤษภาคมต่อกับเดือนมิถุนายน หรือปลายเดือนกรกฎาคมต่อเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เป็นช่วงที่จะช่วยให้ฝ้ายมีผลผลิตดี ครั้นประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคมฝ้ายก็จะแก่และแตกปุย การปลูกฝ้ายชาวบ้านจะปลูกไปพร้อม ๆ กับการปลูกข้าว ระยะเวลาที่ใช้ในการปลูกฝ้ายจนกระทั้งสามารถเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาประมาณ 6 - 7 เดือน แล้วจะนำมาทำเป็นเส้นใยของฝ้ายเพื่อมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วหรือบางแห่งอาจทำไร่ฝ้ายไปพร้อม ๆ กับการทำนา การปลูกฝ้ายซึ่งเป็นพืชที่ปลูกกันมากในภาคอีสานเพราะมีสภาพภูมิศาสตร์เอื้ออำนวยให้ นอกจากจะปลูกเพื่อใช้เส้นใยมาทอผ้าแล้ว ในสมัยโบราณบางครอบครัวอาจปลูกฝ้ายเพื่อแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการดำเนินชีวิตอื่น ๆ ในท้องถิ่นของตน เช่น แรกพริก ฟักแฟง ปลาแห้ง ปลาร้า เป็นต้น แทนที่จะเป็นผู้ทอผ้าเอง
เมื่อได้เมล็ดฝ้ายมาแล้วจะต้องทำตามขั้นตอนต่อไป ตั้งแต่การเอาเมล็ดออกจากสมอฝ้ายเรียกว่า “การอิ้วฝ้าย” การดีดฝ้าย เป็นการตีเอาปุยฝ้ายออกจากเปลือก การกรอฝ้าย คือการเอาปุยฝ้ายมาหมุนบนพื้นด้วยไม้ไผ่ยาวเป็นท่อน ๆ ประมาณ 1 ฟุต การเข็นฝ้าย เอาท่อนฝ้ายเข้าเครื่องปั่นที่เรียกว่า “หลา” หรือ “ไน” เพื่อให้ได้เส้นใย การเข็นฝ้ายจะต้องใช้ความประณีต ส่วนมากเป็นงานของผู้หญิง ในสมัยก่อนหญิงสาวมักจะนัดกันมาทำเป็นกลุ่ม ๆ ในบริเวณลานบ้าน โดยเฉพาะในคืนเดือนหงาย หรืออาจจะก่อไฟเพิ่มแสงสว่างและให้ความอบอุ่นไปด้วยในตัว ซึ่งเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะได้พบประพูดคุยกันด้วย คำผญา หรือ ผะหญา (เป็นคำนามแปลว่า ปัญญา ปรัชญา ความฉลาด เป็นคำพูดที่เป็นภาษิต มีความหมายเชิงเปรียบเทียบ ประกอบด้วยถ้อยคำอันแหลมคมลึกซึ้ง คำกลอนผะหญาอาจจะเป็นคำกลอนพื้นบ้านที่บ่าวสาวผูกขึ้นมาเพื่อแก้กันหรือแคะไค้เสียดสีในการแสดงความรัก แต่ไม่ว่ากันตรง ๆ เป็นเพียงพูดเรียบเคียงกระทบ
กระเทียบเปรียบเปรยกัน และอาจจะว่ากันเป็นกลอนสดก็มีมาก) อันเป็นสื่อนำไปสู่การรักใคร่กันในที่สุด วิธีการนี้ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีเรียก “ประเพณีลงข่วง” ต่อจากการเข็นฝ้ายแล้วก็นำเส้นฝ้ายที่ปั่นออกทำเป็นกลุ่ม นำไปแช่น้ำข้าวเจ้าที่นึ่งสุข แล้วนำมาตีด้วยท่อนไม้ เพื่อให้
น้ำข้าวเจ้าเข้าไปผสมกับเส้นฝ้ายจึงนำไปตากให้แห้ง เพื่อให้เส้นฝ้ายคงทนวิธีนี้เรียกว่า
“การฆ่าฝ้าย”

2. การย้อมสีและการฟอกสี
2.1 การฟอกสีฝ้าย
เมื่อได้เส้นใยฝ้ายที่เหนียวแน่น คงทนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการย้อมสีตามความต้องการ ซึ่งใยฝ้ายที่ใช้จะมีลักษณะแตกต่างกัน ในกรณีที่ต้องการจะให้เส้นฝ้ายขาว จะต้องมีการฟอกสีก่อน ก่อนจะทำการฟอกต้องต้มเพื่อแยกเอาไขมันออกจากฝ้ายเสียก่อนด้วยวิธีดังนี้
2.1.1 การต้ม ใช้โซดาแอ็ซ (Soda ash) ประมาณ 2 ช้อนสังกะสี (20 กรัม)โซดาไฟ
ประมาณ 1 ช้อนสังกะสี (10 กรัม) ลาวาปอนทีเอช ประมาณ 1 ½ ช้อนสังกะสี (20กรัม) น้ำสะอาดประมาณ 1 ปีบน้ำมันก๊าซ ต่อฝ้าย 1,000 กรัม โดยเอาลงต้มประมาณ 60 นาที หลังจากนั้นนำไปซักน้ำให้สะอาด แล้วทำการฟอกต่อไป
2.1.2 การฟอก ใช้ฝ้ายที่ต้มเตรียมเอาไว้แล้วผสมน้ำยาลงในอ่างแก้ว ดังนี้
ใช้ปูนคลอรีน (ที่ใช้สำหรับฝ้าย) ประมาณ 200 กรัม ผสมกับน้ำพอใช้นิดหน่อย ทิ้งไว้ 20 ชั่วโมง จะได้น้ำใส แล้วตักผสมกับน้ำธรรมดาอีกครั้งหนึ่ง ใช้ประมาณ 1 ปีบน้ำมันก๊าซ แล้วเอาฝ้ายที่เตรียมไว้นั้นลงแช่ จนฝ้ายขาวแล้วเอาออกซักน้ำจนหมด (ตอนที่เอาลงแช่ควรได้สังเกตดูด้วยว่าฝ้ายจะเปลี่ยนเป็นสีขาว ประมาณ 60 นาที หรือกว่านั้นเล็กน้อย)
2.1.3. การทำให้ขาวด้วยครามวิทยาศาสตร์ ใช้ครามวิทยาศาสตร์ประมาณ 1
ช้อนชา ละลายลงในน้ำ 1 ปีบ เอาฝ้ายลงแช่ประมาณ 20 นาที แล้วเอาออกตากโดยไม่ต้องซักใหม่อีก
2.2 การย้อมสีฝ้าย
การย้อมสีผ้าหรือเส้นด้ายสมัยโบราณนิยมใช้สีธรรมชาติที่ได้จากต้นไม้ รากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ แก่นไม้ มาย้อมเส้นด้ายหรือผ้าที่ทอจากเส้นด้าย เช่น จีวรพระ แห อวน ปัจจุบัน
ช่างทอผ้าไม่ค่อยนิยมใช้สีธรรมชาติ เนื่องจากมีวิธีการย้อม และขบวนการที่ยุ่งยาก และใช้เวลานาน จึงนิยมใช้สีเคมี ซึ่งมีสีให้เลือกหลากหลาย และมีวิธีการย้อมที่รวดเร็ว ฉะนั้นในการย้อมสีผ้าหรือเส้นด้าย สีที่นิยมใช้จึงมีอยู่ 2 ชนิด คือ สีย้อมที่ได้จากธรรมชาติและสีย้อมที่ได้จากสังเคราะห์ทางเคมี หรือ สีย้อมวิทยาศาสตร์
2.2.1 สีย้อมธรรมชาติ
สีและวัสดุที่ใช้นำมาย้อมสีธรรมชาติส่วนใหญ่ได้จากพืช เปลือกไม้
ใบไม้ ลูกไม้ และรากไม้ มีขั้นตอนเพื่อที่จะทำให้เกิดเป็นสีต่าง ๆ ได้สวยงาม แปลกตา

ต่างจากสีวิทยาศาสตร์ เช่น
สีแดง ได้จาก ดอกคำฝอย รากยอ ครั่ง
สีน้ำเงิน ได้จาก ต้นคราม
สีเหลือง ได้จาก แก่นขนุน ขมิ้นชัน แก่นแครากต้น สะกือ
สีดำ ได้จาก ลูกกระจาย ลูกมะเกลือ
สีชมพู ได้จาก ต้นมหากาฬ และต้นฝาง
สีน้ำตาลจาก ได้จาก เปลือกโม้โกงกาง
สีม่วงอ่อน ได้จาก ลูกหว้า
สีกากีแกมเขียว ได้จาก เปลือกเพกากับแก่นขนุน
สีกากีแกมเหลือง ได้จาก หมากสงกับแก่นแกแล
สีส้ม (แดงเลือดนก) ได้จาก ลูกตะตี
สีตองอ่อน (กระดังงา) ได้จาก รากแถลง (มะพูด)
สีเขียว ได้จาก เปลือกต้นมะริดไม้ ใบหูกวาง เปลือกกระหูด
เปลือกสมอคราม แล้วย้อมทับด้วยสีรากแถลง สีเปลือกไม้ ได้จาก ต้นลูกฟ้า หนามกราย ไม้โกงกาง เปลือกตะบูน
2.2.2 สีย้อมวิทยาศาสตร์
เป็นสีที่ใช้ย้อมฝ้าย เป็นสีที่มีความคงทนดีและกรรมวิธีในการย้อมไม่ยากนัก
ได้แก่สีรีแอ๊คทีป(Reactive) และสีแวต (Vat)
2.2.2.1 สีรีแอ๊คทีป ให้ปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และให้ผลของการดูดซึมในอ่างสีดีที่สุด
2.2.2.2 สีแวต (Vat) สีแวต เป็นสีที่ไม่ละลายน้ำ เวลาย้อมต้องอยู่ในรูปที่ถูกรีดิวส์(reduced) แล้ว โดยโซดาไฟ (caustic Soda และโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium ydrosulphite)ซึ่งจะสังเกตเห็นสีเปลี่ยนจากเดิมไป เช่น สีเหลืองจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เป็นต้น หลักจากย้อมแล้วทำให้สีเดิมกลับคืนมาอยู่ในรูปเดิมที่ไม่ละลายน้ำ โดยผ่านอากาศหรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์(H2O) เรียก อ๊อกซิเดชั่น (Oxidation)
การย้อมสีอาจจะย้อมเป็นสีแก่หรือสีอ่อนอย่างไรก็ได้ แต่ควรใช้ฝ้ายที่ผ่านการต้ม และถ้าจะให้ได้สีสดหรือสีอ่อน ควรใช้ฝ้ายที่ทำการฟอกมาแล้ว วิธีย้อมสี เกลือที่ใช้ปรุงอาหารหรือที่เรียกว่าเกลือแกง มีบทบาทสำคัญในการย้อมเหมือนกัน กล่าวคือ ใช้เกลือประมาณ 300 กรัมต่อน้ำอุ่น 1 ปีบ ควรใช้เกลือป่นเป็นผงจะได้ละลายเร็วขึ้น ใช้สีที่เรียกว่าสีเกลือชนิดที่ย้อมง่าย ๆ

ต้มให้เดือดประมาณ 60 นาที หลังจากนั้นก็นำไปซักน้ำให้หมดสี แล้วเอาลงแช่ในน้ำยาเลโวเกน (Levogen F.W.N.) ประมาณ 30 กรัมต่อน้ำ 1 ปีบ แช่ไปประมาณ 30-40 นาที แล้วเอาออกซักให้สะอาดจะทำให้สีทนดีขึ้น

3. การทอผ้าลายขิด
ผ้าขิด เป็นผ้าทอด้วยกรรมวิธีใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนขึ้น แล้วสอดเส้นพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกจัดช้อนนั้น จังหวะการสอดเส้นด้ายพุ่งทำให้เกิดลวดลายรูปแบบต่าง ๆ ชาวอีสานเรียกว่า การทอผ้าแบบขิด เครื่องมือในการเก็บขิด ได้แก่ ไม้เก็บขิด ทำด้วยไม้ไผ่ หรือไม้แก่นเหลา แผ่นบางกว่าประมาณ 1 นิ้ว ยาวกว่าฟืมเล็กน้อย 1 อัน ไม้ช้อนขิดทำด้วยไม้ไผ่เหลากลมเล็กยาวกว่าฟืมประมาณ 20 อัน ไม้ค้ำขิด 2 อัน อันใหญ่กว้าง 5 นิ้ว อันเล็กกว้าง 3 นิ้ว เสี้ยมปลายให้เรียบเรียวมน

4. การตัดและเย็บ
ขั้นตอนการตัดเย็บหมอนขิด
1. วางผ้าในการทำหมอนขิด
2. วัดผ้าในการทำโดยการวัดความกว้างและยาวของผ้า
3. พับหน้าผ้าเข้าหากัน
4. เย็บไส้ในหมอนขิด
การประกอบหน้าหมอน
1. เย็บหน้าหมอนเข้ากับตัวกีบหน้า ขั้นตอนสุดท้ายเย็บซ้าย - ขวา เหลือตรงกลางไว้ยัดนุ่นหนาแน่นตามความต้องการ
2. ยัดนุ่นและปิดหน้าหมอน โดยการเย็บมือและสอย

การใช้เทคโนโลยีการผลิต
หมอนขิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นภูมิปัญญาด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรมโดยรวมยังคงถือว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยมือ (Hand – made) มีการใช้เครื่องจักรเพียงขั้นตอนการเย็บเท่านั้น

การตลาด
หมอนขิด เป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
1. ตลาดในประเทศ ได้แก่ งานเทศกาลต่าง ๆ ร้านค้าในจังหวัดและต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา ราชบุรี สุโขทัย เป็นต้น
2. ตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรเลีย อเมริกา สิงคโปร์ และจีนเป้นต้น

คุณภาพและมาตรฐาน
การผลิตหมอนขิดบางที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐาน ดังนี้
1. สิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา โดยกระทรวงพาณิชย์
2. มาตรฐานสินค้าชุมชน โดยกระทรวงอุตสาหกรรม
3. ใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูป โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



บทที่ ๒
การวิเคราะห์คุณค่า ลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ ปัจจัยต่าง ๆ ทีเกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา

คุณค่าของผลิตภัณฑ์
ผ้าขิด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของหมอนสามเหลี่ยม หรือ หมอนขิด ซึ่งเป็นผลผลิตที่มีความผูกพันและมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกับชาวบ้านมาแต่โบราณ โดยมีการนำหมอนขิดมาใช้งานในหลายรูปแบบ ทั้งที่ใช้สอยเองในชีวิตประจำวันและ เป็นของฝาก สิ่งของประดับ จนหมอนขิด
กลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นที่ทุกคนให้การยอมรับและภาคภูมิใจ ซึ่งมีคุณค่าในหลาย ๆ ด้านดังต่อไปนี้
1. ด้านประโยชน์ใช้สอย จะได้ประโยชน์จากการใช้หมอน คือหมอนใช้หนุนศีรษะ
ท้าวแขน ใช้อิง ใช้พิง และจากคติความเชื่อเกี่ยวกับการใช้หมอน ตั้งแต่บรรพกาล มีความเชื่อว่า ไม่ควรเอาหมอนมารองนั่งเป็นอันขาด เพราะถือว่าหมอนเป็นของสูงที่ใช้รองศีรษะ ไม่สมควรนำมารองนั่ง จึงเป็นการสอนให้คนในสังคมประพฤติตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมไปถึงฐานันดรของคนในสังคม ที่ควรกระทำให้เหมาะสมกับกาลเทศะ หมอนขิดจึงเป็นเสมือนสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมและสถานะของมนุษย์ในสังคมนั้น
2. ด้านศาสนา ใช้ในงานทอดกฐิน ชาวบ้านจะนำหมอนขิดขนาดใหญ่สำหรับถวายพระสงฆ์ โดยมีความเชื่อว่าหมอนขิดที่นำไปถวายพระมีขนาดใหญ่เท่าใดก็จะได้บุญมากเท่านั้น การบวชนาคก็นิยมใช้หมอนขิดด้วย เพื่อเป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์
3. ด้านประเพณี เช่นงานบุญประจำปี หรือบุญพระเวส ชาวบ้านจะจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ ในขบวนแห่จะมีการแสดงกัณฑ์ต่างๆ ของชาดก เรื่องพระเวสสันดร ชาวบ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนด้วยการแต่งกายแบบชุดพื้นเมืองและนำหมอนขิดไปถวายพระที่วัดด้วย
4. ด้านสังคม ใช้เป็นของฝากระหว่างญาติ เพื่อน หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือน เป็นของฝากที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่เป็นที่ภูมิใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
5. ด้านเศรษฐกิจ เป็นสินค้า OTOP ที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชนและเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นความภาคภูมิใจร่วมกันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นแหล่งหัตถกรรม ที่สามารถรักษาความเป็นพื้นบ้านแบบดั้งเดิมผสมกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของสังคม
ยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว

แนวคิดซึ่งได้มาในตัวผลิตภัณฑ์
มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการย้อมสี โดยการย้อมสีเส้นใยฝ้าย จากวัสดุธรรมชาติ เช่นเปลือกไม้ ตัวอย่างสีเขียว จากเปลือกต้นมะม่วง สีแดงจากเปลือกต้นประดู่ หรือต้นฝาง ผลิตภัณฑ์หมอนขิดสีธรรมชาติเป็นที่ต้องการของตลาดมากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการย้อมสีจากเคมีตลาดต้องการน้อยกว่า

รูปแบบและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์
หมอนขิดมีรูปแบบและลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างชัดเจน มีวิวัฒนาการของลวดลายในหมอนขิด ซึ่งเริ่มจากลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายดอกแก้วลายเดือนรอบดาว ลายขอ
ลายกาล ลายช้าง ลายม้า ที่ได้แนวคิดจากเรื่อง
พระเวสสันดร พระเจ้าสิบชาติ และพระนเรศวร ต่อมาได้พัฒนามาเป็นลายใหม่ขึ้นมา เช่น ลายดอกประจำยาม ลายไทย ที่ได้จากการแกะลวดลายตามประตูหน้าต่าง
โบสถ์และวิหารด้วยความเคารพในพุทธศาสนา

และบางแห่งมีเอกลักษณ์ลวดลายที่สะท้อนความเป็นชุมชน เช่น หมอนขิดบ้านป่าตอง มีเอกลักษณ์ในเรื่องของลวดลายที่มีแรงบันดาลใจมาจากดอกมะลิ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม จึงได้นำลายดั้งเดิมมาประยุกต์กับผ้าพิมพ์ลายไทยของภาคใต้ เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นลายดอกไม้สีขาวบนพื้นที่สีเขียว เรียกว่า ลายดอกมะลิใหม่ส่งเข้าประกวดภูมิปัญญาท้องถิ่นประเภทหัตถกรรม ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดและระดับเขต

ภูมิปัญญาสะท้อนวิถีชีวิตชุมชน
มีความเชื่อหรือคำสอน ตั่งแต่สมัยบรรพบุรุษที่แสดงให้ทราบถึงค่านิยมในการครองเรือนที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า ว่า ผู้หญิงที่อยู่ในวัยพร้อมจะมีครอบครัวต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือต้องมีความสามารถในการทอผ้าเพื่อใช้สอยในครัวเรือน ทั้งเสื้อผ้า และเครื่องใช้ ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย และได้มีการนำหมอนขิดไปถวายพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และมอบแด่เจ้าเมือง ซึ่งถือว่าเป็นของสูงค่า การทำหมอนขิด เป็นการพัฒนาจากเดิมที่บรรพบุรุษได้ทำไว้ใช้เองในครอบครัว และได้ปรับปรุงการทำเพื่อใช้สำหรับถวายพระ ใช้ในเทศกาลงานบุญประเพณีต่าง ๆ และฝากเจ้านายในโอกาสต่าง ๆ จากนั้นได้มีการนำมาพัฒนาเป็นกิจกรรมในครัวเรือนขึ้น โดยมีการพัฒนากิจกรรมการผลิตอย่างกว้างขวาง มีการทำกันแทบทุกครัวเรือนต่อมาเมื่อมีญาติ พี่น้องและชาวต่างถิ่นมาเยี่ยมเยียนหรือได้ไปทำบุญที่วัดแล้วพบเห็น ก็เกิดความสนใจและสั่งซื้อ กิจกรรมการทำหมอนขิดจึงเริ่มพัฒนาจากการทำเพื่อใช้ในครัวเรือนและใช้ในหมู่บ้านไปสู่การผลิตเพื่อการค้า มีการพัฒนาและขยายการผลิตออกไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นกิจกรรมที่เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนที่สำคัญของชาวบ้านในที่สุด
หมอนขิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นในด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ที่มีอยู่เดิม และได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษนำมาสร้างสรรค์ เป็นสีสัน ลวดลายและรูปแบบใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชุมชน โดยการนำวัตถุดิบและทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น ฝ้ายนุ่น สีจากธรรมชาติ มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในครัวเรือนและเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัวและชุมชน ชาวบ้านเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่อยู่กันไปวันๆ หันมารวมตัวกันทำหมอนขิดเป็นสินค้าขึ้นชื่อประจำหมู่บ้าน เพราะถ้าเศรษฐกิจดีมีรายได้ ผลที่ตามมาคือ การได้ครอบครัวกลับมาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ลูกหลานที่ไปทำงานต่างจังหวัดก็กลับมาทำงานที่บ้านเพราะมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว และมีเงินเก็บออม ก่อให้เกิดครอบครัวอบอุ่นชุมชนเข้มแข็ง สนองตอบนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ซึ่งเป็นรากฐานต่อการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งสืบต่อไป

กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ของภูมิปัญญา
ความสามารถและความชำนาญด้านงานหัตกรรม ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานทางสังคมอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นเกณฑ์วัดคุณภาพของคนในสังคม ในภาคอีสาน ชายหนุ่มต้องจักสานเก่ง ทำเกวียนได้ สร้างบ้านได้ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติพร้อมที่จะมีครอบครัว ส่วนหญิงสาวต้องทอผ้าเก่ง มัดหมี่ได้สวยงาม เย็บที่นอนเป็น และทำหมอนขิดได้ จึงจะถือว่าเป็นผู้มีความพร้อมด้วยคุณสมบัติของสตรี ฉะนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคต คนหนุ่มคนสาวต้องหา “อาจารย์”

เพื่อฝึกฝนตนเองในแต่ละแขนงและประเภทหัตถกรรม ด้วยเหตุนี้การสืบทอดหัตกรรมในสังคมไทยโดยเฉพาะในภาคอีสาน จึงเป็นกระบวนการทางสังคมที่ค่อยๆ ยกระดับฝีมือ ความรู้ความชำนาญของผู้ผลิตตลอดเวลา อีกทั้งการถ่ายทอดและการสืบทอดงานหัตถกรรมในสมัยก่อนเกิดขึ้นจากมิติทางสังคมและวัฒนธรรมบนฐานความคิดของการพึ่งตนเองไม่ให้หายใจร่วมจมูก
คนอื่น ฉะนั้น การผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนจึงมีความสำคัญเท่า ๆ กับการประกอบอาชีพหรือการทำมาหากิน พ่อแม่ถือเป็นความรับผิดชอบที่ต้องถ่ายทอดความรู้ และความสามารถทุกอย่างที่ตนมีอยู่ให้แก่ลูกหลานโดยไม่ปิดบัง
หมอนขิด เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาเป็นเวลาช้านานได้มีการพัฒนาและสร้างสรรค์ ลวดลายและรูปแบบใหม่ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในท้องถิ่น เป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน มีการรวมกลุ่มผู้ผลิต และศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน มีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน ผู้สนใจ และ
ผู้มาศึกษาดูงานสม่ำเสมอ ปัจจุบันมีการจัดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับทำหมอนขิดสำหรับเด็ก
ในโรงเรียน เช่น แผนการจัดประสบการณ์และกิจกรรมการเรียนรู้ หน่วยเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก (อาชีพในชุมชน) และหลักสูตรวิชาการงาน(เพิ่มเติม) ช่างเย็บหมอนขิด กลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ส่วนใหญ่ใช้สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และสนับสนุนกิจกรรมงานอาชีพด้านการทำหมอนขิดสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงหลักสูตรงานอาชีพระหว่างโรงเรียนกับชุมชน เป็นอย่างดี


บทที่ 3
ข้อเสนอแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญาตามความเหมาะสมกับสภาวะปัจจุบัน

ข้อเสนอแนะเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาโดยภาพรวมของภูมิปัญญาชาวบ้าน
ภูมิปัญญาชาวบ้านแม้ว่าจะเป็นองค์ความรู้อันมหาศาลที่มีอยู่ทั่วไปทุกหมู่บ้านก็ตาม แต่เมื่อถูกละเลยขาดการยอมรับ ขาดการสืบทอด ในที่สุดก็จะขายสายใยแห่งการต่อโยงระหว่างเก่ากับใหม่ ระหว่างอดีตกับปัจจุบันอย่างน่าเสียดาย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการยกย่องภูมิปัญญาชาวบ้านให้สืบทอดต่อไป ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและที่มีหน้าที่รับผิดชอบ หน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่สนใจ ควรมีแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟู และพัฒนาภูมิปัญญา ดังข้อเสนอแนะแนวทางต่อไปนี้
1. ทำความเข้าใจภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยส่งเสริมเจ้าหน้าที่ขององค์กร ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้าน จากนั้นควรจัดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมเยียน ศึกษาดูงาน พบปะสนทนากับชาวบ้าน และร่วมกิจกรรมชุมชนที่ชาวบ้านได้จัดขึ้น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง สำหรับเป็นพื้นฐานอันมั่นคงที่จะร่วมวางแผนดำเนินการส่งเสริมพัฒนา ฟื้นฟู สืบทอดต่อไป
2. มีการเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยสืบค้น สอบถาม ขอความร่วมมือจากชาวบ้านเพื่อให้ได้ข้อมูล แล้วมาวิเคราะห์จัดระบบ จัดพิมพ์ในรูปของสื่อเอกสารหรือสื่อเผยแพร่
อื่น ๆ สำหรับการศึกษา ส่งเสริม เผยแพร่ ค้นคว้า วิจัยในระดับลึกต่อไป
3. มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยส่งเสริมสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นรากเหง้า พื้นเพของภูมิปัญญานั้นๆ ทั้งนี้โดยเน้นให้มีการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research) เป็นพิเศษ
4. มีการส่งเสริมเผยแพร่ โดยรวบรวมองค์ความรู้ที่เหมาะสมแล้ว เลือกสรรอย่างพิถีพิถัน นำมาจัดทำสื่อเพื่อทำการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทุกสาขา ตามโอกาสอันเหมาะสมโดยมีเป้าหมายเผยแพร่ในประเทศเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านนำความรู้ภูมิปัญญาไปสืบทอด ปรับปรุงและพัฒนา ให้ทันสมัย ส่วนการเผยแพร่ไปสู่ต่างประเทศก็เพื่อให้เห็นถึงศักดิ์ศรีอันดีงามของปราชญ์ชาวบ้านไทย และเกียรติภูมิของชาติไทยเป็นสำคัญ
5. มีการสนับสนุนคืนภูมิปัญญาให้แก่ชาวบ้าน โดยการยอมรับในการมีภูมิปัญญาของชาวบ้าน ยอมรับในศักยภาพของชาวบ้านให้เป็นตัวของตัวเอง ให้มีอิสระสามารถตัดสินใจได้อย่างมีศักดิ์ศรี เลิกครอบงำชาวบ้าน โดยการยกย่องให้กำลังใจในผลงานที่เขาคิดเขาทำ เป็นการเสริมแรงให้มีความเชื่อมั่นว่าเขามีความสามารถช่วยตัวเองได้เหมือนอย่างอดีตที่ผ่านมา

6. มีการประสานเพื่อสร้างเครือข่ายการดำเนินงาน สนับสนุนให้มีการนดูงานเพื่อ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกันของชาวบ้าน

ข้อเสนอแนะส่วนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำหมอนขิด
1. ควรส่งเสริมให้มีการนำสีธรรมชาติ มาใช้ย้อมสีฝ้าย เพราะผลิตภัณฑ์หมอนขิดสีธรรมชาติเป็นที่ต้องการของตลาดมากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ส่วนการย้อมสีจากเคมีตลาดต้องการน้อยกว่า
2. ส่งเสริมการปลูกนุ่นแบบสวนหลังบ้านและสวนเกษตรในอนาคต เพื่อให้ผลผลิตนุ่นในท้องถิ่นเพียงพอต่อการใช้สอย เนื่องจากมีการใช้นุ่นเป็นไส้หมอน ในบางแห่งผลผลิตนุ่นที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอ จึงต้องสั่งซื้อนุ่นจากแหล่งอื่น
3. วิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า สร้างสรรค์ความคิด พัฒนารูปลักษณะหมอนขิด
ของกลุ่มให้มีความหลากหลาย โดยให้สมาชิกภายในกลุ่มจะช่วยกันคิดและศึกษาข้อมูลรูปลักษณะจากกลุ่มอื่นๆ แล้วนำมาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มตน โดยส่วนมาก ลูกค้าส่วนหนึ่ง จะชอบรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน และอีกส่วนหนึ่งจะเลือกแบบลวดลายใหม่ ๆ
4. ดำเนินการพัฒนาตลาด โดยการหากลุ่มเป้าหมายใหม่ เน้นการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น
5. หาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยการจัดหาแหล่งจำหน่าย เพื่อให้สินค้าไปถึงมือผู้บริโภคได้มากที่สุด
6. มีการส่งเสริมการตลาด ซึ่งประกอบด้วย การโฆษณา การส่งเสริมการขาย และประชาสัมพันธ์ โดยมีจุดหมายที่จะบอกให้ผู้บริโภคทราบถึงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าบริการ



บรรณานุกรม

ดร. เสรี พงศ์พิศ,ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท เล่ม ๑,กรุงเทพ : บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน),2536

วิบูลย์ ลี้สุวรรณ,ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน,กรุงเทพ: ต้นอ้อ,2538http://www.sacict.net/research/T053.doc

http://www.thaitambon.com/Tambon/tcommdesc.asp?ID=460102&SME=0211414489

http://web.eng.ubu.ac.th/~seminar/research/e_commerce/index.php

http://cddweb.cdd.go.th/patiu/ci

http://www.katz-thaiimport.de/images/handarbeit-images/gescheckartikel

http://www.opdc.go.th

http://cddweb.cdd.go.th/cdregion03/cdr03/onetambon.htm

http://www.poompanyathai.com/manAgi/images/logoPoom1.gif

http://www.designboom.com

http://www.baanmaha.com/community/images/misc

http://www.sacict.net/research/T053.doc

http://online.benchama.ac.th/social/kanokporn/les6_02.html

http://202.29.22.173/php/localStudent2548/SumWeb/GUNTARAVICHAI/nitikon/words.doc

ไม่มีความคิดเห็น: